“ทีเส็บ” เร่งยกมาตรฐานไทย สู่ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย

แฟ้มภาพ
“ทีเส็บ” เตรียมยกไทยขึ้น “ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย” ดึงรายได้เข้าประเทศ 1 แสนล้าน ตั้งเป้าสถานที่จัดงานระดับมาตรฐานมากสุดในอาเซียน มุ่งสร้างตลาดใหม่-ขยายฐานตลาดเอ็กซิบิชั่นเพิ่ม พร้อมต่อยอด “ความยั่งยืน” ด้วยมาตรฐาน TSEMS

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เปิดเผยว่า เป้าหมายของแผนพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประจำปี 2562-2566 คือ การยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชียด้วยมาตรฐานสากลและเป็นศูนย์กลางการศึกษาไมซ์อาเซียน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนสถานที่จัดงานไมซ์ที่ได้มาตรฐานทั้งในเมืองหลักไมซ์ซิตี้และเมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TMVS และ AMVS ทั้งประเภทห้องประชุม สถานที่จัดแสดงสินค้า และสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษรวมกว่า 600 แห่ง

คิดเป็น 1,200 ห้อง ภายในปี 2566ซึ่งจะมีจำนวนมากที่สุดในอาเซียน จากปัจจุบัน 371 แห่ง 949 ห้อง โดยแบ่งเป็นประเภทห้องประชุม 344 แห่ง 910 ห้อง ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้าจำนวน 11 แห่ง 23 ฮอลล์ และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ 16 แห่ง รวม 16 พื้นที่ ซึ่งยังไม่รวมสถานที่จัดแสดงที่หมดอายุมาตรฐาน TMVS และทำการขอการรับรองมาตรฐานซ้ำ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานของอาเซียน (AMVS) ประเภทห้องประชุมรวมทั้งสิ้น 33 แห่งทั่วประเทศด้วย

พร้อมทั้งมุ่งสร้างผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านหลักสูตรบริหารจัดการสถานที่จัดงานประเทศไทยได้มากกว่า 600 คน จากปัจจุบัน 187 คน และผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำหลักสูตรดังกล่าวโดยผ่านการรับรองในระดับอาเซียน

โดยในปี 2562 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางไมซ์จากต่างชาติเดินทางเยือนไทย 1.32 ล้านคน คิดเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ 1.005 แสนล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นการทำตลาดไมซ์

ต่างประเทศที่ยังใหม่และมีศักยภาพสูง อาทิ แคนาดา อังกฤษ สหรัฐอเมริกา โดยการทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การจัด MICE road show และอื่น ๆ รวมถึงจะพัฒนาและทำตลาดสถานที่จัดงานประเภทสถานที่จัดแสดงงานสินค้าในเชิงรุกมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรม S-curve ที่กำลังเติบโต พร้อมทั้งรักษางานจัดเป็นประจำอยู่แล้วให้สม่ำเสมอและเพิ่มขอบเขตของงานให้ใหญ่ขึ้น

นอกจากนั้น ทีเส็บยังมุ่งมั่นด้านการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการตลาดให้กับมาตรฐาน TMVS และการจัดทำการประเมินความพึงพอใจของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการของมาตรฐาน TMVS ด้วยระบบ data plat-form ในการจัดเก็บข้อมูลอีกด้วย เพื่อนำไปต่อยอดแสดงผลด้าน economic impact ที่จะแสดงให้เห็นศักยภาพของมาตรฐาน TMVS รวมถึงจะจัดทำฐานข้อมูลสถานที่จัดงานต่าง ๆ เพื่อนำไปต่อยอดด้านการขายผ่านโปรแกรมการจับคู่ทางธุรกิจอีกด้วย

ขณะเดียวกันยังเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ จึงได้จัดทำมาตรฐานการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนประเทศไทย (TSEMS) ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถรองรับความต้องการของตลาดและสร้างความได้เปรียบซึ่งลักษณะของมาตรฐานนี้คือความเปิดกว้างไม่มีเช็กลิสต์ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาจากไกด์ไลน์ และนำนโยบายด้านความยั่งยืนทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม และอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองในปีนี้ 15 องค์กร ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการอบรมหลักสูตรก่อน คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐาน TMVS อยู่แล้ว และกลุ่มออร์แกไนเซอร์ผู้จัดงาน

นายจิรุตถ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปีนี้ คือ สภาพเศรษฐกิจไทยที่อาจจะไม่ได้เติบโตมากไปกว่า 3.7% และปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาที่ควรจะเข้าสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่อาจจะเกิดขึ้นตามรอบวงในปีนี้