“การบินไทย” มั่นใจสิ้นปีกำไรแน่ เร่งลดต้นทุนสายการบินลูก

ประธานบอร์ด-รักษาการดีดี “บินไทย” ประสานเสียงปีนี้กำไร มั่นใจไตรมาส 3-4 ฟื้น ประกาศลุยตลาดยุโรปเต็มสูบหลังยอดขายดีดกลับ ลั่นไม่ทิ้งนกแอร์แน่นอน สั่ง “ไทยสมายล์” ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ ด้วยการเปิดบินชาร์เตอร์ไฟลต์รับทัวร์จีนเข้าไทย ด้านแผนลงทุนศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภา คาดจบดีลแอร์บัสต้นปีหน้า

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ 4 เรื่องหลัก ๆ คือ พัฒนาเรื่องเซอร์วิสต่อเนื่อง ปรับระบบสายการบินไทยสมายล์ เดินหน้าทำนิวบิสซิเนสคลาส และรุกตลาดยุโรป รวมทั้งขยายธุรกิจไปยังธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) เพื่อดึงให้ยีลด์ (กำไรต่อหน่วย) กลับมาดีขึ้นท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจการบินที่สูงต่อเนื่อง

มั่นใจปีนี้กำไร-จ่ายโบนัส

โดยคาดว่าภาพรวมสำหรับปีนี้ บริษัทจะมีกำไรและสามารถจ่ายโบนัสให้พนักงานได้ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้อุดรอยรั่วและแก้ไขเรื่องที่เป็นปัญหาได้แล้ว โดยปีที่แล้วการบินไทยได้ทำการปรับปรุงระบบภายในเกี่ยวกับการเชื่อมต่อแต่ละหน่วยงาน ทำให้มีการทำงานที่ประสานและไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) ขึ้นมาอยู่ที่ 80.2% จากปีก่อนที่มี 73% และคาดว่าขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แม้ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ตัวเลขยังขาดทุนอยู่กว่า 5,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ไตรมาส 3 ถ้าเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน เราก็ไม่ได้แย่แล้ว มียอดจองตั๋วล่วงหน้าเข้ามาก็อยู่ในระดับที่ดี”

ด้านนางสาวอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่ทำให้บริษัทยังคงขาดทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมานั้น ล้วนเป็นผลจากปัจจัยภายนอก อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา, สถานการณ์ราคาน้ำมัน รวมถึงปัญหาการขาดทุนของสายการบินในเครือข่ายอย่างไทยสมายล์และนกแอร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม พบว่าตัวเลขของเดือนกันยายน-ตุลาคมปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลจากการแก้ไขส่วนที่เป็นจุดอ่อนได้แล้ว ทำให้คาดการณ์ว่า ตัวเลขของไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ จะพลิกกลับมาดีขึ้นและมีกำไรได้

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นางสาวอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางประชุมรับฟังแผนงานในภาคพื้นยุโรป ณ สำนักงานการบินไทย กรุงโรม ประเทศอิตาลี

เร่งปูพรมตลาดยุโรป

ขณะเดียวกันยังพบว่า ตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายหลักสำคัญของการบินไทยเริ่มกลับมาดีมาก ซึ่งขณะนี้การบินไทยได้วางแผนเพิ่มเที่ยวบินในบางเมือง อาทิ บรัสเซลส์ จะทำการบินเพิ่มจาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่สู่กรุงเวียนนา ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจากการขายตั๋วล่วงหน้าในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีมากเช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเปิดเส้นทางบินสู่ยุโรปในอีกหลาย ๆ เมือง อาทิ อังกฤษ มาดริด และบาร์เซโลนา ซึ่งทีมบริหารจะวิเคราะห์กันอีกครั้ง

ยังไม่ทิ้งนกแอร์

นายอารีพงศ์ยังกล่าวถึงแผนการเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ด้วยว่า ในประเด็นนี้ฝ่ายบริหารยังต้องดูว่าถ้าใส่เงินลงไปแล้ว ต้องมีความชัดเจน นกแอร์ถึงจะไปรอดได้ ซึ่งครั้งที่แล้ว การบินไทยมีเงื่อนไขไปที่บอร์ดนกแอร์ ใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.แผนงานยังไม่ค่อยชัดเจนนัก 2.ผู้บริหารยังงงอยู่ว่าใครจะเป็น หากทั้ง 2 เรื่องนี้มีความชัดเจน การบินไทยก็พร้อมจะลงเงินเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันบอร์ดทุกคนเจรจากันอยู่ และทำงานร่วมกับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นนกแอร์อยู่ว่าจะทำให้นกแอร์เดินหน้าได้อย่างไร

“ผมมองว่าโดยศักยภาพของนกแอร์ยังสามารถแข่งขันได้ และแบรนด์ก็ติดตลาดอยู่แล้ว อัตราการบรรทุกผู้โดยสารในปัจจุบันมีสูงถึง 80% ซึ่งถือว่าสูงมาก เพียงแต่นกแอร์ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารต้นทุน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข ตอนนี้กำลังมีการประชุมเพื่อปรับปรุง”

รื้อใหญ่ไทยสมายล์

สำหรับสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินลูกและยังประสบปัญหาขาดทุนอยู่นั้น นายอารีพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้ทำการปรับรูปแบบการบริหารจัดการให้ไทยสมายล์มาใช้คาพาซิตี้หลาย ๆ ส่วนร่วมกับการบินไทย ทั้งเรื่องการขาย ครัว (อาหาร) ซ่อมบำรุง ฯลฯ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงานลง รวมทั้งทำการวางแผนเส้นทางบินร่วมกัน เพื่อให้ผู้โดยสารได้เวลาคอนเน็กติ้งไฟลต์ที่ดีที่สุด และปรับให้ไทยสมายล์ทำการบินได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ไทยสมายล์ ทำการบินในรูปแบบชาร์เตอร์ไฟลต์ (เช่าเหมาลำ) ในช่วงเวลากลางคืน หรือในช่วงที่ไม่มีตารางบินประจำ แต่มีดีมานด์ในตลาด เช่น ตลาดจากจีนเข้าไทย เป็นต้น โดยจะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

สรุปลงทุนศูนย์ซ่อมต้นปีหน้า

ประธานกรรมการบริษัทการบินไทยยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการลงทุนในธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ด้วยว่า ปัจจุบันธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทุกสายการบินสั่งซื้อเครื่องใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้รายได้จากการขายตั๋วโดยสารปรับตัวลดลง ธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยานจะเป็นธุรกิจที่มาช่วยสร้างโอกาสให้การบินไทยมีศักยภาพในการสร้างรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าทางแอร์บัสให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน และคาดว่าจะสรุปรายละเอียดของการลงทุนได้ภายในต้นปีหน้านี้