วงจรธุรกิจท่องเที่ยวไทยป่วน! ยักษ์ OTA เล่นใต้ดินขายต่ำกว่าทุนทุบตลาด

วงจรธุรกิจท่องเที่ยวไทยป่วนหนัก !เผย “โอทีเอ” ข้ามชาติโหมเล่นเกมใต้ดิน ดัมพ์ขายทัวร์ออนไลน์ต่ำกว่าทุน ยอมควักกระเป๋าซับซิไดซ์ส่วนต่างราคา กวาดเอเย่นต์ทัวร์-นักท่องเที่ยว FIT เข้าพอร์ต ผูกขาดตลาด ล่าสุดกลุ่มอะโกด้าส่ง “KLOOK” กินรวบตลาดกิจกรรมท่องเที่ยวอีกแขนง ชี้ปัญหานี้หนักกว่าทัวร์ศูนย์เหรียญ ดึงเงินไหลออกนอกประเทศ ด้าน “ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์” หมดแรงต้านชง สทท.ช่วยเป็นเจ้าภาพร่วมแก้ไขปัญหา หวั่นทุบวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของคนไทยตายเรียบ พร้อมวอนรัฐตั้งหน่วยงานดูแล

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการโอทีเอ หรือ online travel agent : OTA ได้สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากโอทีเอข้ามชาติรายใหญ่เล่นกลยุทธ์ราคาอย่างหนัก โดยใช้วิธีขายโปรดักต์การท่องเที่ยวของไทยต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ทางผู้ประกอบการกำหนดไว้ และใช้ข้อได้เปรียบด้านเงินทุนที่แข็งแกร่งทุ่มซื้อตลาดด้วยการยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินอุดหนุนส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้น (subsidize) ให้กับเอเย่นต์และบรรดาเจ้าของกิจการท่องเที่ยวของไทยแทน

ทั้งนี้ เพื่อดึงกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว เอเย่นต์ทัวร์ นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มเอฟไอทีทำการจองผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ สร้างภาพลักษณ์ทางธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว และผูกขาดตลาดแบบเบ็ดเสร็จ

KLOOL เดินตามรอยอะโกด้า

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ล่าสุดนี้พบว่ามีแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ ชื่อว่า”KLOOK” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เน้นขายสินค้าในกลุ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวในเครือข่ายของอะโกด้า (Agoda) ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ผู้ให้บริการด้านการจองกิจกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กำลังรุกเข้าสู่ตลาดประเทศไทย และกำลังสร้างปัญหาให้กับวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอย่างหนัก เนื่องจากใช้กลยุทธ์ “ขายต่ำกว่าราคาทุน”และใช้จุดแข็งด้านเงินทุนซับซิไดซ์ส่วนต่างให้กับเจ้าของโปรดักต์

โดยกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ นอกจากเป็นวิธีการทุ่มซื้อมาร์เก็ตแชร์เช่นเดียวกับที่อะโกด้าเคยประสบความสำเร็จ และผูกขาดแพลตฟอร์มการจองโรงแรมที่พักไปแล้ว ยังทำลายภาพลักษณ์สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยอีกด้วย

ทุบวงจรธุรกิจ-เงินไหลออก

และที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ เป็นการทำลายวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของคนไทยอย่างมาก ทำให้บริษัททัวร์ เคาน์เตอร์ขายทัวร์ มัคคุเทศก์ รวมถึงโอทีเอของคนไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถสู้เรื่องราคาได้ ที่สำคัญยังทำลายระบบเศรษฐกิจของไทย และทำให้เกิดภาวะเงินจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยไหลออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้นด้วย

“ในอดีตที่ผ่านมาวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจะบริหารจัดการโดยบริษัททัวร์ที่เป็นตัวกลางกระจายเม็ดเงินไปให้ภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร รถเช่า สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น รายได้ที่เข้ามาจะยังคงหมุนเวียนอยู่ในผู้ประกอบการภายในประเทศ และสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หลังจากที่มีโอทีเอเข้ามา บวกกับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปนิยมจองโปรดักต์ท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน ร้านอาหาร แพ็กเกจทัวร์ รวมถึงโชว์ต่าง ๆ ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศมากขึ้นเป็นเงาตามตัว”

วอนรัฐตั้งหน่วยงานดูแล

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า หากมองภาพรวมของระบบเศรษฐกิจปัจจุบันจะพบว่าปัญหาโอทีเอขายสินค้าท่องเที่ยวต่ำกว่าราคาทุนที่กำลังเป็นปัญหาอย่างหนักในขณะนี้ ทำลายวงจรธุรกิจท่องเที่ยวไทยหนักกว่าปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากผู้ประกอบการคนไทยและรัฐบาลไม่เข้าใจและช่วยกันดูแลปกป้องวงจรธุรกิจของไทย เชื่อว่าอีกไม่นานรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปีนั้นจะไหลไปอยู่ในมือของผู้ประกอบการโอทีเอระดับโลก และทำลายวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศให้ล่มสลายไปในที่สุด

“เราไม่อยากให้ภาครัฐเป็นปลื้มกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่ได้ในแต่ละปีเท่านั้น อยากให้ช่วยเข้ามาดูแลวงจรธุรกิจของคนไทยให้อยู่รอดด้วย ที่สำคัญอยากให้มองว่าทำอย่างไรเม็ดเงินรายได้ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะยังคงหมุนเวียนอยู่ในประเทศให้ได้มากที่สุดด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจและโกยรายได้ไปต่างประเทศโดยไม่มีกฎควบคุมแบบนี้ เพราะสุดท้ายทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวของไทยจะถูกทำลายโดยที่ประเทศได้ไม่คุ้มเสีย”

OTC ชง สทท.ร่วมแก้ปัญหา

นายนิพนธ์ บุญมาสุวราญ ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ (ประเทศไทย) หรือ Online Tourism Club Thailand : OTC ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของสถานที่ท่องเที่ยวและโอทีเอ

คนไทยเพื่อดูแลและแก้ปัญหาเรื่องการขายสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นและเห็นถึงความรุนแรงของปัญหาที่มากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่กลุ่มโอทีเอข้ามชาติรายใหญ่เข้ามาบุกทำการตลาดอย่างหนักในช่วง หลายปีที่ผ่านมา

โดยที่ผ่านมาทางชมรมทำได้เพียงให้ข้อมูลและขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา ซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมช่วยกันตรวจสอบราคาขายของบรรดาโอทีเอข้ามชาติทั้งหมด หากพบว่ารายไหนไม่ขายตามราคาที่กำหนดให้ทำการยุติรับบุ๊กกิ้งทันที

“โอทีเอที่สร้างปัญหาเหล่านี้มีสำนักงานอยู่ต่างประเทศ เราทำอะไร

ไม่ได้ บทบาทของเราตอนนี้คือให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการคนไทยด้วยกันเอง แต่ปัญหามันหนักจนเริ่มต้านไม่อยู่แล้ว จึงอยากเสนอปัญหาให้ภาครัฐได้รับรู้ เพื่อร่วมกันป้องกันตลาดท่องเที่ยวของไทยด้วย” นายนิพนธ์กล่าวและว่า ล่าสุดทางชมรมได้นำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านไปทางเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. เพื่อให้เป็นเจ้าภาพร่วมกันแก้ไข และก็หวังว่า สทท.จะช่วยขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหานี้ในภาพรวมต่อไป

เสนอที่ประชุม สทท. 17 ม.ค.นี้

ด้านนายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ได้รับเรื่องปัญหาดังกล่าวจากทางชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ (ประเทศไทย) หรือ OTC แล้ว ซึ่งก็เห็นด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำลายวงจรธุรกิจท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจของประเทศ และยิ่งทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไหลออกนอกประเทศ และเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจและแก้ไขร่วมกัน

“หลังจากที่ได้รับปัญหามา ผมได้คุยกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ปัญหาไปบ้างแล้ว และเตรียมนำเสนอที่ประชุมใหญ่ของ สทท. ในวันที่ 17 มกราคมนี้ ที่จังหวัดสงขลา” นายสุรวัชกล่าว