บินไทยเร่งธุรกิจสนับสนุน พยุงรายได้-กำไรภาพรวม

“บินไทย” ยันธุรกิจสายการบินเดิมพันสูง แข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง เผยระยะ5-7 ปีนี้ธุรกิจสายการบินเพิ่มรายได้ยาก เหตุมีปริมาณผลิตผู้โดยสารเพิ่มได้เพียงแค่ 3% ต่อปี เร่งขยายฐานธุรกิจสนับสนุนทั้ง “ครัวการบิน-ศูนย์ซ่อม-สินค้าที่ระลึก” เสริมรายได้ธุรกิจการบิน เผยเตรียมส่งเรื่องจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ มูลค่าราว 2 แสนล้านให้ ก.คมนาคมพิจารณาภายในต้นสัปดาห์หน้า พร้อมเตรียมเขย่าแผน “ไทยสมายล์” ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจสายการบินยังคงเป็นธุรกิจที่มีเดิมพันสูง แข่งขันรุนแรงทั้งเส้นทางภายในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญยังเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยที่น่าวิตกที่สุด ดังนั้น ในปี 2562 นี้ บริษัทจะหันมาโฟกัสในธุรกิจที่เป็นขาสนับสนุนที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้มากขึ้น อาทิ ธุรกิจครัวการบิน, ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา, ศูนย์ซ่อมดอนเมือง, ธุรกิจสินค้าที่ระลึก (Thai Shop) เป็นต้น

ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจสายการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของการบินไทยจะไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก เนื่องจากฝูงบินที่มีจำนวนจำกัด (ปัจจุบันมีจำนวน 101 ลำ) ขณะที่แผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ยังอยู่ในขั้นตอนระหว่างการปรับแผนและรอการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยบริษัทมีแผนนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายในต้นสัปดาห์นี้

“ตามแผนเราเสนอจัดซื้อเครื่องบินใหม่จำนวน 38 ลำ มูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านบาท ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2554 ซึ่งเราได้ทบทวนแผนใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจและแผนธุรกิจในปัจจุบัน โดยในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินใหม่ที่จะนำมาทดแทนเครื่องบินลำเก่ามีอายุการใช้งานมากแล้วจำนวน 31 ลำ และเพิ่มขึ้นใหม่ 7 ลำ” นายสุเมธกล่าวและว่า จากแผนดังกล่าวนี้ทำให้ในช่วง 5-7 ปีนับจากปีนี้เป็นต้นไปการบินไทยจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตผู้โดยสาร ซึ่งคิดเป็นที่นั่งต่อกิโลเมตร (available seat-kilometers : ASK) ได้เพิ่มเพียง 2-3% ต่อปีเท่านั้น

นายสุเมธกล่าวว่า จากข้อจำกัดดังกล่าวนี้ ทำให้บริษัทต้องให้มามุ่งเน้นในส่วนของการบริหารจัดการเส้นทางบินฝูงบิน รวมถึงความถี่ในการบินให้สอดรับกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง เพื่อให้ยังคงสามารถสร้างยอดขายรวมให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารและลดต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ในปีนี้นอกจากภารกิจในตำแหน่งดีดีการบินไทยแล้ว ผมยังเข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดบริหารไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินลูกด้วย และต้องปรับทิศทางของไทยสมายล์ให้ไปในทิศทางเดียวกันและมีศักยภาพในการเชื่อมต่อเส้นทางบินที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เชิงการบริหารนับจากนี้การบินไทยจะไม่ได้บริหารแค่ฝูงบินจำนวน 101 ลำเท่านั้น แต่ต้องรวมฝูงบินของไทยสมายล์อีก 20 ลำเข้าไปด้วย ทุกจุดบินต้องเชื่อมต่อและตอบโจทย์เดียวกัน”

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทยยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการขายเครื่องบินเก่าด้วยว่า ขณะนี้บอร์ดได้เห็นชอบให้ขายเครื่องบินเก่าทั้งหมด 20 ลำ ซึ่งขณะนี้ได้ตกลงการขายกับผู้ซื้อไปแล้ว 16 ลำ รวมมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าวนี้น่าจะทยอยบันทึกรายได้นับตั้งแต่ไตรมาส 1 นี้เป็นต้นไป สำหรับเครื่องบินที่รอการขายอีก 4 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส 300-600 จำนวน 1 ลำ แอร์บัส 340-500 จำนวน 1 ลำ และโบอิ้ง 737-400 อีกจำนวน 2 ลำ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!