ทอท.ยันเดินต่อเทอร์มินอล 2 เตรียมขอสภาพัฒน์ทวนใหม่ มั่นใจคุ้มค่าการลงทุน ด้าน 4 สนามบิน ทย. รับโอนแล้ว เข้าบริหารได้ไตรมาส 3 ทุ่มงบ 3.5 พันล้านบาท ยกระดับสู่มาตรฐานสากล
จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้มีมติเบรกการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 โดยให้ ทอท.เร่งขยายอาคารผู้โดยสารทางด้านตะวันออก พร้อมทั้งให้กลับไปพิจารณาและทำรายละเอียดการสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตกใหม่ พร้อมเห็นชอบให้กลับไปยึดตามแผนแม่บทเดิมปี 2546
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ตามแผนแม่บทเดิมปี 2546 กำหนดให้สร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ก่อนสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านใต้ ตามลำดับต่อเนื่องเป็นอนุกรมเพื่อการไหลเวียนของผู้โดยสารที่เป็นระบบ แต่เนื่องจากความหนาแน่นของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินกว่าขีดความสามารถ หาก ทอท.ปฏิบัติตามแผนแม่บทเดิม โดยไม่มีการเพิ่มเติมจะทำให้ขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเติบโตไม่ทันจำนวนนักเดินทาง
ทำให้ ทอท.ตัดสินใจเพิ่มเติมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในพื้นที่ใหม่ ไปพร้อมกับการขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก โดยไม่ได้มีการยกเลิกแผนแม่บทเดิมแต่อย่างใด ซึ่ง ทอท. จะนำเรียนรายละเอียดเกี่ยวกับความจำเป็นทั้งหมดเข้าบอร์ด ทอท. ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้และส่งรายละเอียดทั้งหมดไปที่สภาพัฒน์ เพื่อขอให้พิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทอท.ยืนยันว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พร้อมกับการขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 สามารถทำได้และจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าอย่างแน่นอน
ด้านคำสั่งของกระทรวงคมนาคมเห็นชอบให้ ทอท.รับโอนท่าอากาศยาน 6 สนามบิน จากกรมท่าอากาศยานได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก ทาง ทอท. คาดว่าจะสามารถเข้าบริหารได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่เนื่องจากต้องขอใบสนามบินสากล ซึ่งใช้เวลาปีเศษ จึงอาจจะทำให้การทำงานเต็มระบบเริ่มได้ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปีหน้า โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งสิ้น 3.5 พันล้านบาท โดยแบ่งใช้เป็นระยะที่ 1 สำหรับการยกระดับด้านอุปกรณ์ให้ผ่านมาตรฐาน ICAO และย้ายดีมานด์ผู้โดยสารจากท่าอากาศยานในกรุงเทพไปสู่ท่าอากาศยานดังกล่าว 1.5 พันล้านบาท และระยะที่ 2 สำหรับการขยายโครงสร้างเพื่อรองรับดีมานด์ที่ได้ขยายแล้ว 2 พันล้านบาท นอกจากนั้น ทอท.ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ ทอท. เข้าบริหารท่าอากาศยานแห่งที่ 2 ของเชียงใหม่และภูเก็ต ซึ่ง ทอท.มีแผนสำหรับดำเนินการรอไว้แล้ว โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านบาทต่อหนึ่งท่าอากาศยาน