เปลี่ยนมุมคิด “ท่องเที่ยวไทย” หันตอบโจทย์ “รายได้-ความยั่งยืน”

ปี 2561 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18.13% โดยมีรายได้รวมที่ 3.07 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.01 ล้านล้านบาทและตลาดในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย1.06 ล้านล้านบาท

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่น่ายินดีมาก แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขนี้ควรจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยจะกระโดดสูงแบบนี้แล้ว เพราะนับจากปี 2562 นี้เป็นต้นไปกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะไม่มุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีกต่อไปแล้ว

แต่จะหันมาโฟกัสในเรื่องของรอยยิ้มในการต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมถึงความสะดวก สะอาด ปลอดภัย และความยั่งยืนให้มากยิ่งขึ้น โดยมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ นั้นจะทำให้เกิดความเปราะบางในอนาคต

2561 ปีของการทำสถิตินิวไฮ

“วีระศักดิ์” บอกว่า ปี 2561 ที่ผ่านมาถือเป็นที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยทำสถิติสูงสุดในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งเป็นที่น่าพึงพอใจมาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวรวมที่สูงสุดถึง 38.28 ล้านคนเป็นครั้งแรก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.54% นักท่องเที่ยวจีนทะลุ 10 ล้านคนเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวอาเซียน 9 ประเทศที่ทำสถิติทะลุ 10 ล้านคนด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังเห็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกหลายตลาดในปีนี้ อาทิ นักท่องเที่ยวมาเลเซียเกิน 4 ล้านคน นักท่องเที่ยวอินเดียเกิน 1.5 ล้านคน รวมถึงมีนักท่องเที่ยวอเมริกัน สิงคโปร์ และเวียดนามเกิน 1 ล้านคน เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็เห็นทิศทางตลาดที่เริ่มเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอเมริกาเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจภายในของตัวเอง

สำหรับในด้านรายได้นั้นพบว่าเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว (ตลาดต่างประเทศ) ถึง 2.01 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 9.63%

เรียกว่าโดยภาพรวมแล้วท่องเที่ยวไทยเติบโตได้ตามเป้าหมายได้ แม้ว่าจะมีความท้าทายต่าง ๆ เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ที่สำคัญอัตราการขยายตัวของรายได้ที่สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวยังสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตในเชิงคุณภาพอีกด้วย

นักท่องเที่ยวกระจายลงเมืองรอง

นอกจากนี้การท่องเที่ยวของไทยยังมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการกระจายตัวจากเมืองหลักไปสู่เมืองรองต่าง ๆ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของภาครัฐ โดยนักท่องเที่ยวเมืองรองมีการขยายตัวจากปี 2554 ที่จำนวน 50 ล้านคน เป็น 79 ล้านคน ในปี 2559 และเป็น 90 ล้านคนในปี 2561

ทั้งนี้ พบว่าการท่องเที่ยวในเมืองรองเติบโตในทุกภูมิภาค โดยมีเมืองรองมากถึง 18 เมืองที่รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวสูงกว่าภาพรวมของเมืองรองทั้งหมด

โดยเมืองรองที่นักท่องเที่ยวขยายตัวสูงสุด 2 อันดับแรกคือ ราชบุรี และชัยนาท ขณะที่เมืองรองที่มีการขยายตัวด้านรายได้สูงสุด 2 อันดับแรกคือ บุรีรัมย์ และราชบุรี

“การสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมช่วยกระตุ้นให้การท่องเที่ยวเมืองรองขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (บุรีรัมย์) การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม (ราชบุรี) เป็นต้น”

นอกจากนี้ยังพบว่าการขยายตัวของเมืองรองแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่ 1 รายได้โตต่ำกว่า 5% จำนวน 3 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด, พิจิตร และอำนาจเจริญ กลุ่มที่ 2 รายได้

โต 5-10% จำนวน 39 จังหวัด อาทิ ตรัง, นครศรีธรรมราช, ลพบุรี, เชียงราย, นครนายก, ยะลา, ตราด, หนองคาย ระนอง, อุดรฯ, อุบลราชธานี, น่าน,

ตาก, ลำพูน, ชัยภูมิ, สุพรรณบุรี ฯลฯ คิดเป็นสัดส่วน 76.1% ของจำนวนทั้งหมด

กลุ่มที่ 3 รายได้โต 10-15% จำนวน 12 จังหวัด คือ สุรินทร์, ราชบุรี, สตูล, ลำปาง, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, พัทลุง, ปัตตานี, นครพนม, เลย, ปราจีนบุรี และชุมพร คิดเป็น 21% ของจำนวนทั้งหมด และกลุ่มที่ 4 รายได้โตมากกว่า 15% จำนวน 1 จังหวัดคือ บุรีรัมย์

“ข้อมูลข้างต้นนี้หากโฟกัสกลุ่มจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 5-15% คิดเป็นสัดส่วนถึง 97.1%

คาดรายได้ปีนี้ 3.33 ล้านล้าน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯยังให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับปี 2562 นี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้คาดกาณ์ว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมที่ 3.33 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมูลค่ารวมประมาณ 2.21 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 41.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7.5%

นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทยจำนวน 1.12 ล้านล้านบาทหรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 166 ล้านคนครั้ง หรือขายตัวเพิ่มขึ้น 3%

ท้ายสุด “วีระศักดิ์” ยังคงย้ำกระทรวงจะเปลี่ยนแนวคิดใหม่ และไม่มุ่งเน้นเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่จะทำให้ “การท่องเที่ยว” เข้าไปตอบโจทย์ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในเรื่อง

ของการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต