จับตา “สงครามการค้า-เบร็กซิต” 2 ปัจจัยเสี่ยงท่องเที่ยวปี”62

แม้ปี 2561 ที่ผ่านมา จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยต้องฝ่าวิกฤตมาอย่างหนัก แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงสามารถสร้างรายได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้

สำหรับปี 2562 หลายฝ่ายก็คงจับตาอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมี “ตัวแปร” ที่ท้าทายและอ่อนไหวสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวอีกมากเช่นกัน

“ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย”รักษาการคณบดีคณะท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการคาดการณ์ภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวไทยไว้ดังนี้

“ผศ.ดร.ธนวรรธน์” บอกว่า สำหรับปี 2562 นี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมที่ 40 ล้านคนและมีอัตราการเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมา ราว 5-6%

โดยการคาดการณ์ดังกล่าวนี้เป็นการมองภายใต้กรอบที่ว่านักท่องเที่ยวจีนในปีนี้จะกลับมาใกล้เคียงปกติ หรือเป็นปกติในช่วงตรุษจีนนี้เป็นต้นไป ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นสัญญาณว่านักท่องเที่ยวจีนเริ่มจะกลับมาเป็นปกติแล้ว

ประการต่อมาคือ นักท่องเที่ยวรัสเซียก็เริ่มกลับมาใกล้เคียงปกติแล้วเช่นกัน เพราะสถานการณ์ของราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของรัสเซียฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเจน

ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวยุโรปก็กลับมาค่อนข้างมาก ซึ่งแนวโน้มนี้เริ่มเห็นมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา และยังมาชดเชย

นักท่องเที่ยวจีนที่หายไปในช่วงปลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวในโซนเอเชียก็ยังคงอยู่ในสถานการณ์ปกติ

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่มีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่นอยู่ในขณะนี้คือมาเลเซีย เนื่องจากค่าเงินมาเลเซียแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท บวกกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่นิ่งขึ้นก็ทำให้คนมาเลเซียมีความมั่นใจในการจับจ่ายด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น อีกตลาดหนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตสูงคือ นักท่องเที่ยวอินเดีย ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในอัตราที่สูงเช่นกัน

ทั้งนี้ ตัวเลขการคาดการณ์สถานการณ์ดังกล่าวนี้ วิเคราะห์ภายใต้สมมุติฐาน2 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1.สงครามการค้า(trade war) ระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ไม่มีปัญหามากกว่าเดิม โดยปีนี้จีนคาดว่าตัวเลขจีดีพีจะโตเฉลี่ยที่ราว 6.2% นั่นหมายความว่าภาพรวมเศรษฐกิจจีนจะยังคงดีต่อเนื่อง

“จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน ทุกวันนี้เดินทางออกไปทั่วโลกแค่ราว 100 ล้านคนในจำนวนนี้มาเที่ยวประเทศไทยปีละประมาณ 10 ล้านคน ที่สำคัญคนจีนก็มีหลายระดับ กลุ่มเอฟไอทีก็มีแนวโน้มเดินทางมาไทยมากขึ้น ขณะที่กรุ๊ปทัวร์ก็ยังมองว่าไทยเป็นประเทศที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับการท่องเที่ยว”

และปัจจัยที่ 2 คือ เบร็กซิต (Brexit) หรือการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ เพราะหากผลการโหวตออกมาแบบโนดิวจะทำให้ปีนี้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปอาจจะซึมเล็กน้อย ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวในตลาดยุโรปชะลอการเดินทางไปบ้าง

“ผศ.ดร.ธนวรรธน์” ย้ำว่า เท่าที่ประเมินสถานการณ์ในเวลานี้ทั้ง 2 ตัวแปรยังไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับสี จิ้นผิง เริ่มคุยกันมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ของอังกฤษก็น่าจะมีดิวที่ดีขึ้นกับทางด้านยุโรปแต่ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น อาทิ ผลของเบร็กซิตออกมาแบบโนดิว ประเทศไทยก็น่าจะสูญเสียตลาดยุโรปไปบ้าง เพราะเศรษฐกิจยุโรปอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะตลาดสำคัญอย่างอังกฤษ เยอรมนี อาจทำให้ตัวเลขรวมนักท่องเที่ยวของไทยสำหรับปีนี้อยู่ในกรอบประมาณ 39-39.5 ล้านคน

หรือหากผลของทั้ง 2 ตัวแปรสำคัญคือ สงครามการค้าก็ไม่ดี เบร็กซิตก็โนดิว ซึ่งในสถานการณ์ ณ ขณะนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก ตลาดท่องเที่ยวของไทยอาจซึมตัวพอสมควร อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรวมก็น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรือขยายตัวได้เล็กน้อยที่ราว 38-38.5 ล้านคน เนื่องจากตลาดในภูมิภาคอาเซียนยังมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี
จากแนวโน้มความไม่แน่นอนของตัวแปรในระดับโลกดังกล่าวนี้

“ผศ.ดร.ธนวรรธน์” บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของไทยควรให้ความสำคัญกับการให้บริการที่ดี มีความปลอดภัย รวมทั้งควรที่จะกระจายตลาด เพื่อกันความเสี่ยง โดยทั้งธุรกิจโรงแรม บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ ควรต้องมีการกระจายตลาด และกำหนดสัดส่วนลูกค้าให้ดี ไม่ให้น้ำหนักกับตลาดใดตลาดหนึ่งมากจนเกินไป รวมทั้งมีระบบการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีด้วย

เพราะหากเกิดฉุกเฉินที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นตลาดด้วยกลยุทธ์ด้านราคาก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้


อย่างไรก็ตาม หากภาคท่องเที่ยวมุ่งโฟกัสตลาดบนเพิ่มมากขึ้นก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อแน่นอนอยู่แล้ว และสิ่งที่ควรสร้างจุดเด่นให้ความชัดเจนคือ การนำเสนอคุณภาพและราคาที่เหมาะสมนั่นเอง