เยือนอาณาจักร “แอร์บัส” โรงงานเครื่องบิน เบอร์ 1 ของโลก

“แอร์บัสมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส และในปัจจุบันได้รับยอดคำสั่งซื้อประมาณครึ่งหนึ่งของรายการสั่งซื้อเครื่อง บินโดยสารเชิงพาณิชย์ทั่วโลก..”

ประโยคนี้เรียกความสนใจได้ชะงัด และเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องไปเยือนสำนักงานใหญ่ของแอร์บัสที่ฝรั่งเศส จะว่าไปแล้วสายการบินเกือบทั่วโลกใช้ “ผลิตภัณฑ์” ของแอร์บัสเป็นส่วนใหญ่

สำนักงานของแอร์บัสที่เมืองตูลูส เป็นที่ตั้งของโรงงานฌอง ลุคซ์ ลาการ์ตแดร์ (Jean-Luc Lagardere) ตั้งอยู่ที่เมืองบลาญัก เป็นฐานการประกอบเครื่องบิน A380 รวมถึงเป็นสถานที่เตรียมความพร้อมก่อนขึ้นบิน และส่งมอบเครื่องบินให้กับลูกค้าในแถบเอเชีย อเมริกา และแอฟริกา

ก่อนเข้าชมภายในสำนักงานใหญ่ “มารี ลาโล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของแอร์บัส เล่าถึงความเป็นมาและตัวเลขต่าง ๆ ของแอร์บัส ไม่ว่าจะเป็นออร์เดอร์สั่งผลิตเครื่องบินจากลูกค้าที่มีอยู่ในมือทั้งหมดขณะ นี้ 17,285 ลำ ทำการส่งมอบแล้ว 10,514 ลำ และยังมีที่เป็นแบ็กล็อกอีก 6,771 ลำ

จากนั้นไปเยือนสถานที่แรกของวัน คือ Mock Up Center หรือ ห้องโดยสารจำลอง เรียกตามประสาเรา ๆ เป็นห้องสำหรับให้ลูกค้าเลือกออกแบบเครื่องบินตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้นั่งของผู้โดยสาร สีสัน บรรยากาศภายในห้องโดยสาร รวมถึงความกว้างของห้องโดยสาร ก่อนจะเป็นการพาชมขั้นตอน Final Assembly Line ของเครื่องบินแบบ A350 XWB และ A380

สำหรับเครื่องบิน A350 XWB นั้น “อาร์โนลด์ เดอ ลาครัวซ์” คนนำชมบอกว่าเป็นเครื่องที่ถูกออกแบบมาเพื่อแทนที่โบอิ้ง 777 ดังนั้น ห้องโดยสารจึงมีขนาดกว้างกว่าห้องโดยสารของเครื่องบินโบอิ้ง อยู่ 6 นิ้ว จัดแบ่งออกเป็น 3 ชั้นโดยสาร จัดเรียงแบบ 9 ที่นั่ง

ต่อแถวในชั้นโดยสารประหยัด และยังมีประสิทธิภาพลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงได้ถึงร้อยละ 25 ช่วยลดต้นทุนต่อที่นั่งต่อไมล์ในการเดินทางลง เมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ส่วนขั้นตอนสายการผลิต A350 XWB และ A 380 ทั้งสองแบบไม่แตกต่างกัน

กล่าวโดยสรุปเริ่มจากการลำเลียงส่วนประกอบย่อยของเครื่องบินแต่ละส่วนโดยรถบรรทุก และใช้รถยกในการเคลื่อนขนย้าย ส่งไปยังการสายการผลิตขั้นตอนต่าง ๆ ในโรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่พอสมควรมีความยาวประมาณ 500 เมตร กว้าง 250 เมตร

สถานีแรกเป็นการประกอบลำตัวเครื่องบินเข้าด้วยกัน ซึ่งจะประกอบส่วนลำตัวของเครื่อง ปีกทั้งสองข้าง ชุดแพนหางระดับ ระบบล้อ ฯลฯ หลังจากนี้เครื่องบินจะถูกลากไปยังสถานีถัดไปเพื่อทดสอบสมรรถนะ สำหรับการประกอบในขั้นตอนนี้โดยทั่วไป ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็จะประกอบรวมกันเป็นเครื่องบินเรียบร้อย

เมื่อเป็นรูปร่างเครื่องบิน ระบบภายในเครื่องทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ก็มาถึงขั้นตอนสุดท้าย คือตรวจสอบระบบมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ความดันภายในห้องผู้โดยสาร การสื่อสารทางวิทยุ เรดาร์อากาศ ฯลฯ

และเครื่องบินจะถูกนำไปทดสอบระบบเครื่องยนต์ก่อนขึ้นบินทดสอบครั้งแรก โดยจะบินไปฮัมบูร์กเพื่อติดตั้งห้องโดยสารและทาสีเครื่องบินตามแบบของแต่ละ สายการบิน หลังจากนั้นส่งไปยังศูนย์ส่งมอบเครื่องบิน เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ตูลูสจะเป็นสถานที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าในแถบเอเชีย อเมริกา และแอฟริกา

แอร์บัสมีการจ้างงานประมาณ 55,000 ตำแหน่งทั่วโลก เป็นบริษัทระดับโลกอย่างแท้จริง โดยมีบริษัทย่อยที่เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ในสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง มีศูนย์ชิ้นส่วนและอะไหล่ในฮัมบูร์ก แฟรงก์เฟิร์ต วอชิงตัน ปักกิ่ง ดูไบ และสิงคโปร์

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิศวกรรมและฝึกอบรมในตูลูส ไมอามี เม็กซิโก วิชิต้า ฮัมบูร์ก บังคาลอร์ ปักกิ่ง และสิงคโปร์ รวมไปถึงรัสเซีย มีสำนักงานบริการ 150 แห่งทั่วโลก

อุตสาหกรรมการบินที่แข่งขันกันรุนแรงในขณะนี้ ทำให้สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกต้องหันมาปรับตัวเพื่อการแข่งขัน ไม่เว้นแม้แต่ “การบินไทย” ก็ต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่ง

คือการเร่งจัดหาเครื่องบินแบบใหม่ที่มีความทันสมัย และสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสาร ขณะเดียวกันก็ต้องทำกำไรและลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจได้ด้วย

และสุดท้ายแอร์บัสมั่นใจว่าการเดินทางทางอากาศนั้น จะยังคงเป็นวิธีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจต่อไป