“ไทยสมายล์” จัดทัพใหม่ผนึก “บินไทย” แก้โจทย์ขาดทุน

หลังจากไทยสมายล์ขาดทุนสะสมกว่า 8.27 พันล้านบาท ในปี 2561 ที่ผ่านมา ทางฟาก “การบินไทย” ที่ต้องแบกรับทั้งการขาดทุนของไทยสมายล์จึงเตรียมรุกเข้าแก้ปัญหาภายในอย่างเร่งด่วน

“สุเมธ” นั่งบอร์ดไทยสมายล์

ล่าสุด “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้เข้าไปนั่งบริหารในตำแหน่งประธานบอร์ดไทยสมายล์ อีกตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ “ชาริตา ลีลายุทธ” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยสมายล์แอร์เวย์ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการต้นทุนของไทยสมายล์นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาโดยตลอด จากทั้งการควบคุมงบประมาณซ่อมบำรุงและการบริหารจัดการ แต่ไทยสมายล์มีเน็ตเวิร์กในด้านการขายน้อยจึงทำให้ยังมีผลตอบแทนที่ต่ำและทำให้เกิดปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

เชื่อมต่อแผน-เส้นทางบิน

ดังนั้น หลัง “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” ดีดีการบินไทย เข้านั่งในบอร์ดบริหารและเตรียมขึ้นเป็นประธานบอร์ดไทยสมายล์ ทำให้ไทยสมายล์เริ่มดำเนินธุรกิจร่วมกับการบินไทยอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยได้เชื่อมต่อแผนการบินและแผนการขายเข้ากับการบินไทยอย่างเต็มตัว จึงมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเที่ยวบินและความถี่ในหลายเส้นทางบิน

Advertisment

โดยเส้นทางบินที่เตรียมจะเปิดเพิ่มในเร็ว ๆ นี้ ได้แก่ เส้นทางบินจากกรุงเทพฯสู่เซียะเหมิน, คุนหมิง, เฉิงตู ประเทศจีน ซึ่งไทยสมายล์จะเข้าไปบินแทนการบินไทยและอยู่ระหว่างการขอสิทธิการบิน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดบินวันละ 1 เที่ยวบินได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ชาริตา ลีลายุทธ

เพิ่มเวลาใช้เครื่องบิน

Advertisment

นอกจากนั้น “ไทยสมายล์” ยังมีเส้นทางบินที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมเปิดภายในปีนี้อีกส่วนหนึ่งด้วย ได้แก่ เส้นทางบินสู่เมืองดานังและเมืองซาปา เวียดนาม เส้นทางบินสู่เมืองไทเปและเมืองเกาสง ไต้หวัน เป็นต้น

รวมทั้งจะมีการเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินที่มีดีมานด์สูงอย่างอินเดีย โดยเส้นทางบินกรุงเทพฯ-มุมไบ จะเพิ่มความถี่จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งจะเข้าไปช่วยการบินไทยบินเสริมในเส้นทางกรุงเทพฯ-โกลกาตา อีก 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นต้น

“ชาริตา” บอกด้วยว่า แม้จะมีเส้นทางบินและเที่ยวบินเปิดเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไทยสมายล์ก็จะยังใช้ฝูงบินเดิมและยังไม่มีการรับเครื่องบินใหม่ในปีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากแผนจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มของไทยสมายล์ รวมอยู่ในแผนจัดซื้อของการบินไทย จึงจะเน้นการบริหารจัดการเวลานำเครื่องบินไปใช้ให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

โดยหลังจากการเปิดเส้นทางบินทั้งหมด จะสามารถเพิ่มเวลาใช้เครื่องจาก 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 10.5 ชั่วโมงต่อวันได้ และทำให้สัดส่วนเที่ยวบินภายในประเทศต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศของไทยสมายล์ ปรับจาก 60:40 เป็น 40:60

เขย่าช่องทางขายตั๋วโดยสาร

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยสมายล์มีอัตราส่วนการจองตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ 28% ผ่านการบินไทย 30% และที่เหลืออีกประมาณ 60% เป็นการขายผ่านเอเย่นต์ต่าง ๆ แต่หลังจากเชื่อมโยงการขายกับการบินไทยแล้ว น่าจะทำให้สัดส่วนการขายผ่านการบินไทยปรับขึ้นไปอยู่ที่ 40% โดยประมาณ เช่นเดียวกับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่จะปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หลังจากการปรับปรุงเว็บไซต์ของไทยสมายล์แล้วเสร็จ รวมทั้งจับมือขายตั๋วร่วมกันกับอีกหลายสายการบิน เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้นอีก

โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาได้เริ่มต้นกับสายการบินในเครือไปบ้างแล้ว เช่น Lufthansa และ ANA และในเดือนเมษายนของปีนี้ คาดว่าข้อตกลงกับ Laos Airline จะแล้วเสร็จ และในปี 2562 นี้คาดว่าการขายตั๋วร่วมกับอีก 5 สายการบิน ได้แก่ Bangkok Airways, Cathay Pacific, China Southern, Jet Airways และ Eva Air

มั่นใจบินไทยหนุนรายได้-กำไร

“ชาริตา” มองว่า ความท้าทายของไทยสมายล์ในตอนนี้ คือ การประสานงานร่วมกันกับการบินไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้เครือข่ายเดียวกัน และเชื่อว่าไทยสมายล์จะได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญทางด้านเครือข่ายของการบินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมารวมกับจุดแข็งทางด้านการบริหารต้นทุนของไทยสมายล์ จะทำให้สถานการณ์ของไทยสมายล์ดีขึ้นและจะกลับมามีกำไรในปีนี้ได้

พร้อมทั้งมั่นใจว่าจะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) จากปัจจุบัน 80% เป็น 85% และจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5-10% จาก 2 ล้านคนในปีที่ผ่านมา เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2562 นี้ และสร้างรายได้รวมที่ 13,000-15,000 ล้านบาท

เดินหน้า Go Green

ไม่เพียงแต่จะบริหารงานใกล้ชิดกับการบินไทยมากขึ้นแล้ว แนวทางต่อไปของไทยสมายล์จะเดินหน้าgo green มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่กระบวนการบริหารงานจนมาถึงการให้บริการ ทั้งการลดขยะพลาสติก ลดขยะอาหาร การใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ฯลฯ เพื่อสร้างไทยสมายล์ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นผ่านการดำเนินงานตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การสร้างสมดุลในการพัฒนาธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการรักษาระบบนิเวศเอาไว้ ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง

โดยล่าสุดได้ร่วมกับ ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) นำความเข้มข้นของกาแฟไทยจากฝีมือชาวเขาในมูลนิธิโครงการหลวง ที่ผ่านการคั่วบดตามแบบฉบับของ “คาเฟ่ อเมซอน”มาเสิร์ฟให้แก่ผู้โดยสารไทยสมายล์ทุกเที่ยวบินฟรี พร้อมกับเตรียมผสานความร่วมมือด้านความยั่งยืนต่อไปในอนาคต และในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ไทยสมายล์จะเปิดให้ผู้โดยสารสามารถเลือกจะรับหรือไม่รับอาหารบนเที่ยวบินเพื่อลดขยะอาหารในกรณีผู้โดยสารไม่รับประทาน และจะนำเงินส่วนที่ผู้โดยสารสละอาหารไปบริจาคให้กับการกุศลต่อไป

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!