“ไทยแอร์เอเชีย” รุกขยายพอร์ต CLMV บาลานซ์ตลาดจีน

“ไทยแอร์เอเชีย” เดินเกมกระจายความเสี่ยง เตรียมแผนเพิ่มเส้นทางสู่ CLMV ระลอกใหญ่ ล่าสุดเปิดเส้นทางไทย-เวียดนาม 3 เส้นทาง พร้อมเพิ่มความถี่เส้นทางเดิม หวังช่วยดันจำนวนผู้โดยสารในภูมิภาคนี้โต 24% กวาดผู้โดยสาร 2.7 ล้านคน บาลานซ์พอร์ตตลาดจีน

นางสาวณัฏฐิณี ตะวันชุลี ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทจะเดินกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง พร้อมทั้งเร่งขยายตลาด CLMV เพื่อมาบาลานซ์ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 16% ของมูลค่าตลาดเส้นทางระหว่างประเทศ ขณะที่ตลาด CLMV มีสัดส่วนปีที่ผ่านมาที่ประมาณ 10% โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ของตลาด CLMV ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12% ในปีนี้

“ในปี 2561 ประเทศไทยประสบกับปัญหานักท่องเที่ยวจีนลด ทำให้สายการบินต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับไทยแอร์เอเชียซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยอัตราบรรทุกผู้โดยสารพลาดเป้าเล็กน้อยจาก 87% ในปี 2560 มาอยู่ที่ 85% สายการบินตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดจากการพึ่งพาเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งมากเกินไป”

นางสาวณัฏฐินีกล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 นี้ไทยแอร์เอเชียได้เดินหน้าเปิดเส้นทางบินใหม่สู่ประเทศเวียดนาม 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เกิ่นเทอ เส้นทางกรุงเทพฯ-ญาจาง และเส้นทางเชียงใหม่-ดานัง รวมถึงเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินเชียงใหม่-ฮานอย จาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งจะเริ่มบินในวันที่ 12 เมษายนนี้ เพื่อหวังดึงผู้โดยสารจากเวียดนามมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในเทศกาลสงกรานต์

“การเปิดเส้นทางบินเวียดนามภายในปีนี้ทั้งหมดจะทำให้ไทยแอร์เอเชียสามารถคงสถานะสายการบินที่มีความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางไทย-เวียดนามมากที่สุดที่ 19% ของตลาด และจะมีความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางไทย-เวียดนามเพิ่มขึ้น 49% ทำให้เส้นทางไทย-เวียดนามของไทยแอร์เอเชียเติบโตได้ถึงราว 47% คือจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่ประมาณ 3 แสนคนในปีที่ผ่านมาเป็น 4.3 แสนคนในปีนี้” นางสาวณัฏฐินีกล่าว และเชื่อว่าไทยแอร์เอเชียจะสามารถแข่งขันในเส้นทางไทย-เวียดนามที่ดุเดือดได้ด้วยแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีมาตรฐาน และได้รับความไว้วางใจจากผู้โดยสาร

ขณะเดียวกันสายการบินก็ยังมีแผนที่จะเพิ่มเส้นทางบินสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV อีก 2-3 เส้นทาง ทำให้ปีนี้ไทยแอร์เอเชียจะเปิดเส้นทางบินสู่ CLMV รวมทั้งหมด 4-5 เส้นทาง ซึ่งคาดว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางบินสู่ CLMV เติบโต 24% คือจาก 2.17 ล้านคน ในปี 2561 เป็น 2.7 ล้านคนในปี 2562 นี้

สำหรับเส้นทางสู่อินเดียนั้นนางสาวณัฏฐิณีกล่าวว่า ในเมืองชั้น 1 และชั้น 2 บางเมืองมีการจำกัดสิทธิการบินอยู่ การจะขยายเส้นทางเพิ่มจึงต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดดังกล่าวด้วย โดยสายการบินได้พิจารณาการเพิ่มเส้นทางบินสู่เมืองชั้น 3 และ 4 ของอินเดียที่ไม่มีการจำกัดสิทธิการบิน เพียงแต่การเปิดเส้นทางดังกล่าวจะต้องพิจารณาศักยภาพของเมืองอย่างถี่ถ้วน ว่ามีดีมานด์เพียงพอให้เปิดเส้นทางหรือไม่ด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชียมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด 21.6 ล้านคน เติบโต 7% จากปี 2560 และมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร 85% ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตอีก 6-7% ในปี 2562 นี้ หรือมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่ 23.15 ล้านคน และมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารที่ 86%

นอกจากนั้นไทยแอร์เอเชียมีแผนรับเครื่องบินมาเพิ่มในฝูงบินอีก 4 ลำในปีนี้ เมื่อรวมกับฝูงบินเดิมสิ้นปีนี้จะมีฝูงบินทั้งหมด 66 ลำ ซึ่งขณะนี้ทยอยรับมาแล้ว1 ลำ ประจำอยู่ที่ฮับเชียงรายเพื่อบินในเส้นทางบินจากเชียงรายสู่กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ไทยแอร์เอเชียมองว่าตลาดสายการบินต้นทุนต่ำจะยังคงมีการแข่งขันสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา ด้วยมีจำนวนสายการบินมากขึ้น แต่ละสายการบินมีความแอ็กทีฟมากขึ้น ไทยแอร์เอเชียจึงจะเน้นการสร้างแบรนดิ้งให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้ามากกว่าเดิม ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนในสายการบินนกแอร์นั้น สายการบินให้ความสนใจ แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ทางด้านการลงทุน