“การบินไทย” ดิ้นแก้ปมขาดทุน ชงตัดตัวเลขเจ๊งสะสม/ลุ้นจ่ายปันผล

“บอร์ดบินไทย” ชงผู้ถือหุ้น เม.ย.ขออนุมัติตัดขาดทุนสะสม 2.8 หมื่นล้าน หวังจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นเดินหน้าบริหารความเสี่ยง “อัตราแลกเปลี่ยน-ราคาน้ำมันโลก” เร่งแก้ปัญหาทางบัญชี ดันรายได้เสริมปีนี้ 3-4 พันล้าน 

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดการบินไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้เสนอที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 วันที่ 1 เมษายนนี้ อนุมัติให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นโอนทุนสำรองตามกฎหมาย 2.69 พันล้านบาท และส่วนล้ำมูลค่าหุ้นมูลค่า 2.55 หมื่นล้านบาท ไปตัดตัวเลขขาดทุนสะสมที่ปรากฏอยู่ในงบการเงิน สิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม 2561 มูลค่า 2.8 หมื่นล้าน วิธีการดังกล่าวนี้หากหักลบกันแล้วจะทำให้ตัวเลขขาดทุนสะสมทางบัญชีลดเหลือ 296 ล้านบาท

ดังนั้น หากบริษัทมีศักยภาพในการทำกำไรได้เกิน 300 ล้านบาท จะทำให้สถานะของบริษัทเป็นกำไรทันที และมีศักยภาพที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้เร่งดำเนินการใน 2 ประเด็นหลัก เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนและจัดการความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้ในทันทีรวมถึงแก้ปัญหางบการเงิน คือ 1.การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถึง 50 สกุลเงิน และ 2.การบริหารต้นทุนน้ำมันท่ามกลางภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันโลกให้สอดคล้องกับสภาพตลาดให้มากขึ้น

“หากเราสามารถจัดการ 2 ส่วนนี้ได้ จะเห็นงบการเงินที่ดีขึ้นได้ทันที เนื่องจากตัวแปรสำคัญที่มาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 9,881 ล้านบาท”

นายสุเมธกล่าวว่า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจเพื่อให้การดำเนินงานหลุดพ้นจากปัญหาการขาดทุน และสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้มีแผนจะสร้างรายได้จากหลาย ๆ ด้าน อาทิ การปรับปรุงฝูงบินให้ทันสมัยและสามารถแข่งขันได้ การปรับปรุงการบริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การบริการภาคพื้นจนถึงการบริการบนเครื่องบิน (ground to sky) การบริหารจัดการด้านการขายและการตลาด โดยเฉพาะด้าน digital marketing รวมถึงการหารายได้เสริมและเพิ่มขีดความสามารถและการขยายธุรกิจ เช่น ธุรกิจครัวการบิน, การจำหน่ายสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสายการบิน, ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และการพัฒนาบุคลากร จัดโครงสร้างการเงินให้เหมาะสมกับธุรกิจยิ่งขึ้น

“ปีนี้เราตั้งเป้าจะสร้างรายได้ธุรกิจเสริมเพิ่ม 3,000-4,000 ล้านบาท เนื่องจากช่วง 2-3 ปีนี้ รายได้ที่มาจากการจำหน่ายตั๋วโดยสารไม่สามารถเติบโตได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการจัดซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ ดังนั้น ระหว่างนี้เราต้องจัดหาเครื่องบินเช่าระยะสั้นมาทดแทน”

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2561 นายสุเมธกล่าวว่า การแข่งขันอุตสาหกรรมการบินยังคงรุนแรง ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาทค่าใช้จ่ายรวม 208,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,468 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท