“แอร์บีเอ็นบี” หอบข้อมูลถกรัฐ หนุนแชริ่งเฮาส์ถูกกฎหมาย

“แอร์บีเอ็นบี” หอบผลงานคุยรัฐ หาช่องหนุนแชริ่งเฮาส์ถูกกฎหมาย เผยพร้อมช่วยเก็บภาษีนักท่องเที่ยวเข้ารัฐ-กระจายการท่องเที่ยวเมืองรองชี้เทรนด์ใหม่ผู้หญิงวงการท่องเที่ยวมาแรงแถมโตต่อเนื่อง

นางสาวมิช โกห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) เปิดเผยว่า เนื่องจากแอร์บีเอ็นบีเป็นแพลตฟอร์มใหม่ทางด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีความพยายามที่จะพูดคุยกับภาครัฐถึงเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องและสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น

โดยที่ผ่านมาแอร์บีเอ็นบีได้นำเอากรณีศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการทำงาน ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจเสนอให้กับหน่วยงานรัฐ อาทิ แอร์บีเอ็นบีสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 78,000 บาทต่อปีให้กับเจ้าของที่พัก หรือการเข้าไปช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬาของบุรีรัมย์ในระหว่างการจัดการแข่งขันโมโตจีพี หรือการแข่งขันมาราธอนที่ผ่านมา และนำเอากรณีศึกษาทางด้านกฎหมายจากประเทศต่าง ๆ ที่มีการรับรองการให้เช่าที่พักระยะสั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ทั้งในรูปแบบของการแก้ไขข้อกฎหมายเดิม หรือเพิ่มเติมข้อกฎหมายใหม่ลงไป รวมทั้งร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนถึงการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

ซึ่งเชื่อว่าการใช้แพลตฟอร์มแอร์บีเอ็นบีและดิจิทัลต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยในลักษณะของการกระจายการท่องเที่ยวออกไปตามภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงเมืองรองทั้ง 55 จังหวัดมากขึ้น ในลักษณะคล้ายคลึงที่แอร์บีเอ็นบีทำโครงการร่วมกับท้องถิ่นต่าง ๆ อยู่

“ส่วนเรื่องภาษีนั้นเรายินดีช่วยโฮสต์ในการแจ้งเก็บภาษีการท่องเที่ยวจากผู้ที่มาเข้าพัก ซึ่งที่ผ่านมาก็เรียกเก็บภาษีการท่องเที่ยวกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากหลายประเทศทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์ม โดยเราต้องการจะแน่ใจว่าการให้บริการของโฮสต์สามารถสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ด้วย”

นางสาวมิชกล่าวต่อไปว่า ในปีที่ผ่านมานั้นแอร์บีเอ็นบีสังเกตเห็นหนึ่งในการเติบโตที่น่าสนใจคือ การเติบโตของผู้หญิงในวงการการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมาโฮสต์หรือเจ้าของที่พักหญิงเติบโตกว่า 22% และสร้างรายได้รวมกัน 38,000 ล้านบาท รวมถึงในไทยเองที่ในปี 2561 แอร์บีเอ็นบีมีจำนวนที่พักทั้งหมด 80,000 แห่ง และมีจำนวนแขกที่เข้าพักกว่า 1,800,000 คน รวมสร้างรายได้กว่า 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% จากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับโฮสต์ด้านประสบการณ์ที่พบว่าเป็นผู้หญิงกว่า 60%

ทั้งนี้ หากสำรวจทั้งโฮสต์ในเมืองหลักและเมืองรองที่ได้รับความนิยม อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต เชียงราย พระนครศรีอยุธยา บุรีรัมย์ จะพบว่ากว่า 50% ของผู้ให้บริการเป็นผู้หญิง ซึ่งคาดว่าเกี่ยวข้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงโอกาสในการหารายได้ได้มากขึ้น