“นกแอร์” เร่งแผน Turn Around ตั้งเป้าหยุดขาดทุนให้ได้ในปี”63

สถานการณ์ของสายการบิน “นกแอร์” ในห้วงเวลานี้ดูเหมือนจะยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังเผชิญกับวิกฤตขาดทุนสะสมต่อเนื่อง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น ทำให้หลายฝ่ายจับตาทิศทางการก้าวเดินของ นกแอร์ในทุกย่างก้าว

ล่าสุด “ประเวช องอาจสิทธิกุล” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทาง แผนการดำเนินงานของนกแอร์จากนี้ไปไว้ดังนี้

“ประเวช” บอกว่า หลังจากการขาดทุนสะสมต่อเนื่องรวมกว่า 8,059 ล้านบาท ในปี 2561 นกแอร์จึงได้วางแผนและปรับกลยุทธ์เพื่อหาทางหยุดภาวะขาดทุนมาโดยตลอดแต่เนื่องจากปี 2561 วงการการบินประสบกับทั้งภาวะราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นกว่า 30% ของต้นทุนพุ่งสูง และได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากปัญหาเรือล่มที่ภูเก็ต และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ทำให้นกแอร์ยังไม่สามารถหยุดการขาดทุนได้

อย่างไรก็ตาม นกแอร์ได้วางแผนพลิกฟื้น (turn around plan) เพื่อให้นกแอร์กลับมายืนได้อีกครั้ง โดยแผนดังกล่าวมีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2562-2564 ด้วย 6 กลยุทธ์ เพื่อมุ่งเพิ่มการบริหารจัดการของนกแอร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1.บริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2.เพิ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศ 3.เพิ่มค่าตอบแทนต่อผู้โดยสาร (yield) 4.เพิ่มรายได้เสริมอื่น ๆ นอกจากค่าโดยสาร 5.จับมือกับพันธมิตรในการทำกลยุทธ์ระยะยาว และ 6.การลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างองค์กร

โดยไฮไลต์หลักจะอยู่ที่การจับมือกับพันธมิตรในการทำกลยุทธ์ระยะยาว และการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างองค์กร ซึ่งการจับมือกับพันธมิตรในการทำกลยุทธ์ระยะยาวนั้น นกแอร์จะจับมือกับนกสกู๊ตในการทำเที่ยวบินอินเตอร์ไลน์ (interline) ร่วมกัน

โดยการขยายไปสู่เมืองหลักทั่วโลก เป็นการช่วยขยายขีดความสามารถของนกแอร์ในการขายตั๋วเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้เซ็นข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับไทยกรุ๊ป คือ การบินไทย และ ไทยสมายล์ ในการบริหารประโยชน์ร่วมกัน ทั้งเรื่องของน้ำมันและประกันอากาศยาน พร้อมทั้งการร่วมบินหรือรับเส้นทางบินมาดูแล เนื่องจากนกแอร์เป็นสายการบินขนาดเล็ก งบฯไม่มาก จึงไม่มีการขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศ หากมีการขยายเส้นทางบินก็จะมีเพียงการขยายเส้นทางบินโค้ดแชร์ อินเตอร์ไลน์ หรือเช่าเหมาลำเท่านั้น

รักษาการซีอีโอนกแอร์ยังระบุด้วยว่าสำหรับการลดต้นทุน นกแอร์จะดำเนินการในหลาย ๆ ส่วนต่อเนื่องจากที่ได้ทำมาแล้วในปีก่อน ได้แก่ การบริหารจัดการ ground handling ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขยายการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความคุ้มทุน เพิ่มเวลาบินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพฝูงบิน และบริหารจัดการน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นได้มีการจัดซื้อน้ำมันสะสมเพื่อเฝ้าระวังการปรับราคาบ้างแล้ว

นอกจากนี้ เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค นกแอร์จะสื่อสารเรื่องการปรับปรุงคุณภาพบริการในเรื่องของความตรงต่อเวลาให้ดีขึ้น โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2561 นกแอร์

มีสถิติตรงเวลาเฉลี่ย 8 เดือน 87.62% สูงที่สุดในช่วงเดือนกันยายนที่ 91.71% ทำให้ได้รับการจัดอันดับว่าเป็น 1 ใน 5 สายการบินที่ตรงเวลาที่สุดในเอเชีย จากเว็บไซต์ OAG ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ความมั่นใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

ด้านเป้าหมายนกแอร์มุ่งที่จะหยุดการขาดทุนให้ได้เร็วที่สุด โดยคาดว่า จะสามารถหยุดการขาดทุน และองค์กรกลับสู่จุดเสถียรภาพที่มีความมั่นคงได้ติดต่อกัน 3 ไตรมาสได้ภายในปี 2563 ก่อนจะเร่งการเติบโต ขยายการให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้สร้างกำไรได้ภายในปี 2564 หากแผนการหยุดขาดทุนเป็นไปตามคาดการณ์ นกแอร์จะสามารถปลดเครื่องหมาย “C” (caution) ของหุ้นนกแอร์ได้ในระยะเวลาต่อมา และจะดำเนินการเพิ่มทุนเพื่อขยับขยายต่อไป

สำหรับการปรับฝูงบินนั้น “นกแอร์” มีแผนเลิกใช้เครื่อง ATR 72-500 ทั้งหมดในปีนี้ และจะคงจำนวน Bombardier Q400-8 ไว้ที่ 8 ลำ ไปจนถึงปี 2564 นอกจากนี้ยังมีแผนจะปลดเครื่อง Boeing 737 ลง 1 ลำในปีนี้ ก่อนจะรับเพิ่มมาอีก 2 ลำในปี 2563 และอีก 2 ลำในปี 2564 ดังนั้น ในปี 2564 นกแอร์จะมีเครื่อง Bombardier Q400-8 ทั้งหมด 8 ลำ เครื่อง Boeing 737 ทั้งหมด 20 ลำ รวมทั้งหมด 28 ลำ

พร้อมกันนี้ รักษาการซีอีโอนกแอร์ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 1.3% จากปี 2560 และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจาก 85.6% เป็น 88.6% แต่มีรายได้รวมลดลงเฉลี่ย 6.1% จากภาวะสงครามราคาในอุตสาหกรรมการบิน ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงใน 2 ไตรมาสสุดท้ายกว่า 9.6% จากทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ด้านรายจ่ายนั้นต้นทุนต่อหน่วยลดลงจาก 2.4% เป็น 2.32% มาจากการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นก็ตาม


เมื่อถามว่านกแอร์อาจเดินมาถึงทางตันแล้วหรือไม่ “ประเวช” เผยว่า “เชื่อว่ายังไม่ใช่ ผม คณะผู้บริหารและพนักงานเจ้าหน้าที่อีก 1,675 คนของนกแอร์ ทุกคนล้วนบริการด้วยใจและมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นคืนธุรกิจที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมการบินของไทยให้กลับมาดีอีกครั้ง และอย่างน้อย ๆ ที่สุดไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร หนึ่งสิ่งที่เราทำสำเร็จแล้ว คือ เราได้ความร่วมมือร่วมใจที่ทำอย่างเต็มความสามารถเพื่อที่จะมอบความปลอดภัยและการบริการที่ดีให้กับผู้โดยสาร เราหวังว่าทั้งสองสิ่งจะนำไปสู่ผลประกอบการของบริษัทที่ดีขึ้น”