ชุลมุนดิวตี้ฟรี “สุวรรณภูมิ” พลิกแท็กติกกม.หลุด PPP

ประมูลดิวตี้ฟรีส่อหลุด พ.ร.บ.ร่วมทุน ! ทอท.เดินหน้าเปิดขายซองทีโออาร์แบบมีเงื่อนไข ขอสงวนสิทธิ์ “ยกเลิก” ด้าน “นิตินัย ศิริสมรรถการ” นายใหญ่ ทอท. เตรียมหอบเอกสารชี้แจงคณะอนุกรรมการฯอีกรอบ 10 เม.ย.นี้ ลุ้นปิดเกมได้ก่อนประกาศผลผู้ชนะประมูล สคร.มั่นใจชงเรื่องให้ ครม.เคาะเร็วสุดภายในเมษาฯนี้

หลังจากที่ ทอท.ได้เริ่มเปิดขายทีโออาร์การประมูลร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา คาดว่านอกจากกลุ่มคิง เพาเวอร์ เจ้าของสัมปทานเดิมร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่สนใจเข้าซื้อซองทีโออาร์แล้ว ยังมีกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ที่สนใจ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล ที่ได้ซื้อซองทีโออาร์ไปแล้ว ส่วนกลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มเกษร กลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส รวมถึงกลุ่มล็อตเต้ ดิวตี้ฟรีรายใหญ่จากเกาหลี ที่น่าจะทยอยเข้าซื้อซองทีโออาร์ภายในวันที่ 18 เมษายน วันสุดท้ายของการขายซอง

ประมูลสงวนสิทธิ์ขอ “ยกเลิก”

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเดินหน้าจัดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1 สัญญาและร้านค้าปลอดภาษีอากร หรือดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ อีก 1 สัญญา ครั้งนี้ที่ได้เริ่มเปิดขายซองทีโออาร์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1-18 เมษายนนี้ พร้อมกำหนดเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการรอคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือบอร์ดพีพีพี พิจารณาว่าโครงการดังกล่าวต้องนำเข้าพิจารณาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ ในรายละเอียดทีโออาร์ล่าสุด ทอท.ได้ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการประมูล หากโครงการดังกล่าวต้องเข้าพิจารณาใน พ.ร.บ.ร่วมทุน นั่นหมายความว่าระหว่างนี้ ทอท.จะยังดำเนินการจัดการประมูลต่อไปตามแผน หากบอร์ดพีพีพีมีมติว่าไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ก็เดินหน้าต่อไปตามกระบวนการ แต่หากบอร์ดพีพีพีมีมติว่าต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ก็ต้องยกเลิกการประมูลทันที เพื่อกลับไปเริ่มนับ 1 ของกระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุน

ลุ้นเคาะก่อนประกาศ 31 พ.ค.

นายนิตินัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา ทอท.ก็ได้ทำหนังสือเรียนหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยอธิบายความว่า สิ่งที่ทาง ทอท.ได้ดำเนินไปนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่กิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็น และไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน และเมื่อมีหน่วยงานที่ควบคุมดูแลทักท้วงมา จึงทำหนังสือเรียนหารือกลับไป พร้อมทั้งมีคำถามกลับไปว่า สิ่งที่ ทอท.ดำเนินการไปนั้นถูกต้องแล้วใช่หรือไม่

“ส่วนตัวคิดว่าจากหนังสือเรียนหารือดังกล่าวน่าจะเป็นที่มาที่ทาง สคร.นำไปหารือ และตั้งคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือคณะกรรมการ PPP ตามมาตรา 13 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งนายกฯก็ได้เรียกคณะทำงานประชุมไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน เพื่อกลั่นกรองและเสนอความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการพีพีพีพิจารณาต่อไป” นายนิตินัยกล่าว

และว่า อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้นัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายนไปแล้ว ซึ่งกรรมการได้มอบหมายให้ ทอท.นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม และนัดประชุมนัดที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 10 เมษายนนี้

นายนิตินัยกล่าวด้วยว่า หากดูตามแผนของคณะกรรมการพีพีพี เชื่อว่าการพิจารณาว่าโครงการนี้ต้องเข้าหรือไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน น่าจะใช้เวลาไม่นานนัก หากสามารถสรุปได้ก่อนวันปิดขายซองทีโออาร์ (18 เมษายน) ก็น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ส่วนตัวคาดหวังหากกระบวนการพิจารณาไม่ทันวันปิดขายซองทีโออาร์ ก็อยากให้เสร็จทันก่อนที่จะประกาศผลคัดเลือกผู้ชนะการประมูล (31 พฤษภาคม)

เลือกทางโอกาสเสียหายต่ำสุด

นายนิตินัยกล่าวต่อไปอีกว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ทาง ทอท.จำเป็นต้องเดินหน้าประมูลต่อ เนื่องจากโครงการอาคารผู้โดยสารหลังรอง หรือแซตเทลไลต์เทอร์มินอล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะเสร็จกระบวนการขึ้นหลังคาภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จากนั้นจะเข้าสู่งานระบบและตกแต่งภายใน อาทิ ท่อน้ำ ท่อแอร์ ท่อสายไฟ หาก ทอท.ได้ผู้ชนะการประมูลเสร็จทันก็จะสามารถวางระบบทั้งหมดให้เชื่อมต่อกับงานที่ก่อสร้างอยู่ได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลาทุบหรือรื้องานตกแต่งภายในบางส่วนใหม่

“ตอนนี้โครงการประมูลล่าช้าไปพอสมควร และถ้าเราไม่ได้ผู้ประมูลทันเวลาก็จะเกิดปัญหาใหม่ ซึ่งเป็นปัญหากับผู้รับเหมา หาก ทอท.ทำให้แผนการของผู้รับเหมาล่าช้า เราก็ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งความเสียหายน่าจะมากกว่า จึงเลือกทางเดินที่มีโอกาสเสียหายน้อยที่สุด คือ การเดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์” นายนิตินัยกล่าว

ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า การแยกสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีออกเป็น 2 สัญญา คือ สุวรรณภูมิ 1 สัญญา และภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ อีก 1 สัญญา จะทำให้ ทอท.ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำลงนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่บอร์ด ทอท.ได้สั่งให้พิจารณา และคณะทำงานก็ได้กำหนดรายได้จากค่าตอบแทนของทั้ง 2 สัญญาดังกล่าวว่า จะไม่ต่ำกว่าที่ ทอท.เคยได้รับแน่นอน ซึ่งในรายละเอียดได้ระบุไว้ในซองทีโออาร์แล้ว

ลากยาวต่อสัญญารายเดิม

ล่าสุด นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวย้ำว่า โดยส่วนตัวมั่นใจว่ากิจการดิวตี้ฟรี ไม่เข้าเกณฑ์กิจการที่ต้องเดินตามกฎหมายพีพีพีฉบับใหม่แน่นอน และที่ผ่านมา ทอท.ก็เดินตามแนวทางนี้มาโดยตลอด เนื่องจากที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้ตีความแล้วว่า ดิวตี้ฟรีไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นกับกิจการท่าอากาศยาน

“หากต้องดำเนินการตามกระบวนการพีพีพีก็อาจจะทำให้เรื่องนี้ล่าช้าออกไปอีก ทางบริษัท คิง เพาเวอร์ก็จะได้ประโยชน์ เพราะจะได้รับการขยายสัญญาออกไปจนกว่าจะมีรายใหม่เข้ามา” นายประสงค์กล่าว

ชงเรื่อง ครม.เคาะภายในเมษาฯ

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า คาดว่าอนุกรรมการด้านกฎหมายจะสรุปข้อกฎหมายเพื่อออกประกาศกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นในหมวดคมนาคม ที่ประกอบด้วย กิจการท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ, กิจการถนน ทางหลวง ทางพิเศษ การขนส่งทางถนน, กิจการรถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง และกิจการท่าเรือ การขนส่งทางน้ำ เป็นประกาศฉบับที่ 1 ก่อน และคาดว่าจะเสนอที่ประชุมบอร์ดพีพีพี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ชี้ขาดภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในสัปดาห์สุดท้าย และออกประกาศต่อไป

จับตาประมูลดิวตี้ฟรีหลุดพีพีพี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า มีความพยายามที่จะพลิกเกมการประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ ให้ไม่ต้องผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในครั้งที่ผ่านมา (29 มี.ค. 2562) ได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาว่า การประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรี จะเป็นประเภทกิจการที่ต้องเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุน หรือไม่

“แต่เป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้งให้ประธานอนุกรรมการ เป็นอัยการสูงสุด ไม่ใช่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งผิดไปจากธรรมเนียมปฏิบัติในการตั้งอนุกรรมการ เพื่อชี้ขาดเรื่องประเด็นทางกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาอัยการจะทำหน้าที่ในขั้นตอนตรวจร่างสัญญา การวางโครงสร้างอำนาจใหม่เช่นนี้ อาจทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความว่า สุดท้ายการประมูลดิวตี้ฟรีอาจจะไม่ต้องเข้าประเภทกิจการที่ต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมลงทุน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ โดยปกติหากคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐมีประเด็นขัดกันของข้อกฎหมาย จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษพิจารณาอยู่แล้ว

ขณะที่ นางณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า การประมูลดิวตี้ฟรีรอบใหม่นี้ ยังคงต้องรอบอร์ดบริหาร ซึ่งมี คุณทศ จิราธิวัฒน์ เป็นคนสรุปว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะมีทิศทางอย่างไร หรือจะร่วมประมูลในพื้นที่ใดบ้าง ต้องรอแนวทางของบอร์ดบริหาร ที่ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัล ในนามเซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม (กิจการร่วมทำงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์) ได้เข้าไปบริหารในพื้นที่ ร้านค้าและบริการ สนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ประมาณ 1,400 ตารางเมตร ซึ่งได้การตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี