ท่องเที่ยวโค้งแรกอืด ! ค่าเงินบาทแข็งหนุนคนไทย “เที่ยวนอก”

ผ่านโค้งแรกมาแล้วสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์โดยรวมในไตรมาส 1 จะไม่ค่อยหวือหวาอย่างที่ผู้ประกอบการหลายฝ่ายคาดการณ์นัก แต่ก็ถือว่ามีนัยสำคัญของการเติบโตต่อเนื่องตลอดทั้งปีเช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายตลาด เพื่อสะท้อนภาพรวมของไตรมาส 1 และแนวโน้มในไตรมาส 2 ไว้ดังนี้

นักท่องเที่ยวกระจุกเมืองหลัก

“ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย ให้ข้อมูลถึงภาพรวมสถานการณ์การประกอบการของผู้ประกอบการโรงแรมทั่วประเทศว่าในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา อยู่ในช่วงไฮซีซั่นของโรงแรมไทย ทำให้โดยรวมโรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ค่อนข้างดีอยู่ระหว่าง 75-80%

“แม้ภาครัฐมีความพยายามที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่การท่องเที่ยวกว่า 78.5% ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมในเมืองรองก็ยังไม่ได้รับโอกาสจากนักท่องเที่ยวมากเท่าที่ควร”

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นของภาครัฐก็ช่วยส่งเสริมให้เกิดความสนใจในการท่องเที่ยวเมืองรองเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่โอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมยังต้องดูปัจจัยอื่น ๆ อาทิ แหล่งท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

“ศุภวรรณ” บอกด้วยว่า ยังเชื่อว่าในไตรมาส 2 ที่กำลังจะมาถึงนี้จะมีปัจจัยหลายประการที่ช่วยขับเคลื่อนให้สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการเป็นประธานการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะทำให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์ (MICE) มีการเติบโตต่อเนื่อง

และมองว่าการประชุมดังกล่าวนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มได้

สงกรานต์-งานราชพิธีหนุน Q2

ด้าน “ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์” รองประธานฝ่ายตลาดท่องเที่ยวในประเทศ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ด้านตลาดในประเทศ กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของตลาดในประเทศในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาอยู่ในภาวะทรง ๆ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจซบเซาและสถานการณ์ภัยพิบัติ รวมทั้งฝุ่นละอองที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

โดยภูมิภาคที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ รองลงมาเป็นภาคกลาง และภาคเหนือ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในไตรมาส 2 ที่กำลังถึงนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมจะได้รับอานิสงส์จากเทศกาลและวันหยุดยาวต่าง ๆ อาทิ สงกรานต์ งานพระราชพิธี ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว ๆ 3%

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของนักท่องเที่ยวที่มีลักษณะการตัดสินใจแบบเร่งด่วนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศต้องปรับตัว โดยการหันเข้าหาการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวอย่างขาดความรับผิดชอบหลายประการ ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการภายในประเทศพยายามร่วมกันรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยมุ่งหวังผลทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย”

กลุ่ม “กรุ๊ปทัวร์” ลดต่อเนื่อง

สำหรับในฟากของตลาดอินบาวนด์นั้น “สุรวัช อัครวรมาศ” อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่าจากการเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขนักท่องเที่ยวตลาดอินบาวนด์ประเภทกรุ๊ปทัวร์ที่ผ่านเข้าออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองของสมาคมแอตต้าพบว่าในไตรมาส 1 ที่ผ่านมานั้นภาพรวม

นักท่องเที่ยวตกลงไป 8% 

ทั้งนี้ เป็นผลจากตลาดจีนที่ได้รับผลต่อเนื่องจากปลายปีอีกประมาณ 12.44% และตลาดเกาหลีที่ตกลง 5% แม้มีตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 2 ตลาด คือ ไต้หวันที่เติบโต 25% และเวียดนามที่เติบโต 15% ก็ยังทำให้ภาพรวมตกลง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวภาพรวมที่ยังบวกอยู่ แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวยังคงมาเที่ยวไทยเพียงแต่เดินทางผ่านกรุ๊ปทัวร์น้อยลงเท่านั้น

คนไทยแห่เที่ยวนอก

ด้านตลาดเอาต์บาวนด์ (outbound tourism) หรือตลาดคนไทยเดินทางเที่ยวต่างประเทศนั้นถือว่าแตกต่างกับตลาดอื่น ๆ โดย “เจริญ วังอนานนท์” อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) บอกว่า ตลาดท่องเที่ยวเอาต์บาวนด์นั้นเติบโตต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2561 ตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้น 8-8.5% ในปี 2562 นี้ หรือมีจำนวนที่ประมาณ 10.9 ล้านคน

ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาถือว่าเติบโตได้ดีจากอานิสงส์ของเงินบาทแข็งค่าทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเอื้อกับคนไทยที่ต้องออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศ รวมถึงอานิสงส์ของเครื่องบินเช่าเหมาลำจากหลายประเทศที่เดินทางเข้ามาในไทยเอื้อโอกาสกับการขยายเส้นทางของผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าในไตรมาส 2 นี้ตลาดเอาต์บาวนด์จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าน่าจะมีการเติบโตประมาณ 8% จากความคึกคักช่วงปิดเทอมของนักเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย


และยังบอกด้วยว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะยังไม่ขยับเขยื้อนมากนักแต่ก็ไม่มีผลกับตลาดเอาต์บาวนด์ เพราะปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวถือเป็นการเปิดประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่งไปแล้ว