Seektour ขยับรุก B2C เปลี่ยนสงครามราคาสู่ “คุณภาพ”

ท่ามกลางโลกยุคดิจิทัลที่ธุรกิจดั้งเดิมล้วนถูกดิสรัปชั่นออกไปจากระบบ หน้าใหม่ทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นหน้าเก่าสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวหลายเจ้าตัดสินใจลงมาจับแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเอาตัวเองและธุรกิจให้รอดในโลกดิจิทัล

แต่ “Seektour” แพลตฟอร์มจองแพ็กเกจทัวร์ออนไลน์ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมาไม่ได้ต้องการแค่เพียงเอาธุรกิจให้รอด หากต้องการยกระดับการท่องเที่ยวในภาพรวมด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “วนัสรา วงษ์สมุทร” หรือ “โนบิตะ”ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลิตเติ้ลโพนี่ บี ยูนิคอร์น จำกัด ผู้บริหารเว็บไซต์ Seektour.com ถึงแนวคิด การปรับตัวของธุรกิจทัวร์ รวมถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจ ไว้ดังนี้

“โนบิตะ-วนัสรา” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ว่า แม้ปัจจุบันจะมีออนไลน์เอเย่นต์ด้านการท่องเที่ยวไทยหลายเจ้าเปิดตัวเข้ามาลุยในธุรกิจท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และขายแพ็กเกจทัวร์เช่นเดียวกันกับธุรกิจของเขา แต่ Seektour ก็มีลักษณะการให้บริการที่แตกต่างกับเจ้าอื่น ๆ โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญคือ การสร้างระบบขายทัวร์แบบ B2C โดยไม่มีคนกลาง

พร้อมกับบอกว่า ความพิเศษแรกของ Seektour คือ การเปิดโอกาสให้ tour maker และผู้บริโภคมาพบปะกันโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มของ Seektour ไม่ต้องผ่านเอเย่นต์คนกลาง หรือเว็บไซต์กลางที่มีลักษณะเป็นแค็ตตาล็อกทัวร์ที่มักไม่เปิดเผยชื่อเจ้าของทัวร์ ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้ tour maker มีโอกาสในการสร้างการจดจำเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้ดีขึ้น และสร้างความประทับใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ได้ง่ายขึ้น

ความพิเศษของระบบนี้ไม่เพียงแค่ลดค่าใช้จ่ายที่ tour maker ต้องจ่ายให้กับคนกลางซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ทัวร์ที่ถูกลง และ tour maker ได้กำไรที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ Seektour เปิดให้ผู้ใช้บริการทัวร์ให้เรตและรีวิวทัวร์นั้น ๆ ได้โดยตรง ทำให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบเรตรีวิวและราคาของ tour maker ได้

ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการต่อสู้ของธุรกิจทัวร์จากการต่อสู้ทางด้านราคา หรือ price war ให้กลายเป็นการต่อสู้ทางด้านคุณภาพ หรือ quality war

นอกจากนี้ ระบบหลังบ้านของ Seektour มีความแตกต่าง เนื่องจากเป็นระบบอัตโนมัติสามารถตัดจองที่นั่งได้เลยภายในเว็บไซต์ที่รับชำระผ่านหลายช่องทาง ทั้งชำระผ่านตู้ ATM ธนาคารออนไลน์ เอ็มเพย์ และการตัดผ่านบัตรเครดิต โดยผู้ซื้อไม่ต้องรอให้เอเย่นต์โทรศัพท์คอนเฟิร์มกับเจ้าของทัวร์แล้วรอการติดต่อกลับเหมือนที่ผ่านมา

รวมถึงสามารถแชตกันผ่านระบบของ Seektour ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ได้ช่วยลดทั้งขั้นตอนและเวลา รวมถึงช่วยลดจำนวนคนและต้นทุนที่จะต้องใช้ในการทำงานเปลี่ยนจากการทำงานในลักษณะ human core ไปสู่ technology core มากขึ้น

เมื่อถามถึงความท้าทายที่อาจจะเกิดจากการเข้าไปดิสรัปชั่นตลาดทัวร์ “โนบิตะ” ตอบว่า ทราบดีตั้งแต่ต้นที่เลือกเข้ามาทำธุรกิจนี้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการบางส่วนในตลาดทัวร์จากนวัตกรรมที่เปลี่ยนไป แต่มองว่าถ้าหากการเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถนำประโยชน์มาสู่ผู้บริโภคและวงการทัวร์ไทยก็คุ้มค่ากับการลอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตนเองเชื่อว่าตลาดทัวร์ซึ่งมีขนาดใหญ่มากอยู่แล้วนั้น ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจัยบวกหลายปัจจัย อาทิ สังคมผู้สูงอายุและการมีครอบครัว

ขณะนี้ Seektour ได้เริ่มเปิดดำเนินการในระยะที่ 1 คือ การให้บริการซื้อขายทัวร์เอาต์บาวนด์และบริการเพิ่มเติม อาทิ Sim2Fly ฯลฯ ผ่านเว็บไซต์แล้ว โดยจะเริ่มแผนทางการตลาดในการโปรโมตในเดือนเมษายนนี้

โดยจะเร่งสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านการทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งจะใช้ผ่านทั้งบล็อกเกอร์, นาโนอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงการทำ SEO (search engine optimization) และการใช้ระบบตัวแทนฝากลิงก์ในเว็บไซต์การท่องเที่ยวพร้อม ๆ กับการรันแคมเปญส่วนลดจาก AIS Privilege อีกด้วย

“โนบิตะ” ยังบอกอีกว่า ในช่วงการเปิดให้บริการปีแรกนั้นจะเน้นสร้างฐานจำนวนผู้ใช้ก่อน เพื่อนำไปสู่การต่อยอดการใช้บริการในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีจำนวนการจองประมาณ 1,200 ครั้งต่อเดือน หรือประมาณ 12,000 ครั้งในปี 2562

โดยเชื่อมั่นว่าในปีต่อ ๆ ไปหลังจาก Seektour เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ใช้กลุ่มแรกแล้วนั้นจะทำให้เกิดการบอกต่อและสามารถเติบโตเป็น 100% ต่อปีได้

ขณะเดียวกัน Seektour ก็ยังมีแผนที่จะเปิดดำเนินการเพิ่มเติมอีกหลายส่วน อาทิ ในระยะที่ 2 จะเปิดให้บริการทัวร์อินบาวนด์และทัวร์ในประเทศ ระยะที่ 3 ทัวร์เพื่อการท่องเที่ยวเป็นรางวัล (incentive group) รวมถึงมีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการจากเว็บไซต์ไปสู่การให้บริการเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

นอกจากนั้น หลังจากปักหมุดในไทยได้อย่างแน่นหนาแล้ว ในระยะยาว Seektour ยังตั้งใจที่จะขยายการให้บริการออกไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างจีน อินเดีย ฯลฯ ภายในปี 2563 อีกด้วย

โดยมองว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศมีสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ และกลายเป็นยูนิคอร์นได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแกร็บ (Grab) หรือโกเจ็ก (GoJek) แต่ยังไม่เคยมีสตาร์ตอัพไทยที่สามารถกลายเป็นยูนิคอร์นได้มาก่อน


ดังนั้น Seektour จึงตั้งเป้าหมายที่จะเดินหน้าต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การเป็นยูนิคอร์น (unicorn) ของไทยให้ได้ในอนาคต