“แชริ่งอีโคโนมี” สุดบูม Airbnb ขยาย “ขนาดธุรกิจ” ย้ำผู้นำ

หลังจากแพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน หรือแชริ่งอีโคโนมี อย่าง “แอร์บีแอนด์บี” (Airbnb) ประสบความสำเร็จในระดับโลก ส่งผลให้มีคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ เข้ามาบุกตลาดเซ็กเมนต์นี้มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น “โฮมอะเวย์” (HomeAway) ในเครือเอ็กซ์พีเดีย หนึ่งในธุรกิจออนไลน์ แทรเวลเอเย่นต์ หรือโอทีเอ เจ้าใหญ่

รวมถึงแพลตฟอร์มของแต่ละท้องถิ่นเอง อย่างเช่น “เฟฟสเตย์” (favstay) ธุรกิจสตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่นำเสนอบริการที่พักตากอากาศในหัวเมืองท่องเที่ยวของประเทศไทย

“เนท เบลชาร์ชซิค” ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์ แอร์บีแอนด์บี เล่าว่า ปัจจุบันเริ่มมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาบุกตลาดการแบ่งปันบ้านพัก (โฮมแชริ่ง) มากยิ่งขึ้น กลยุทธ์ของแอร์บีแอนด์บี คือ การขยาย “ขนาดธุรกิจ” อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตจำนวนที่พักในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีรายชื่อที่พักในระบบแล้วกว่า 4 ล้านแห่ง จากเจ้าของกว่า 2 ล้านคน ใน 191 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าพักกว่า 200 ล้านคนแล้ว

Airbnb ชู “เอ็กซ์พีเรียนส์”

โดย “แอร์บีแอนด์บี” ได้เปิดตัวบริการใหม่ ภายใต้ชื่อ “เอ็กซ์พีเรียนส์” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชนกว่า 1,800 รายการ ใน 30 เมืองทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอีกจุดที่แอร์บีแอนด์บีได้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

และพบว่านับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเอ็กซ์พีเรียนส์มา มีอัตราการเติบโตกว่า 500% ต่อเดือน โดย 90% ของเอ็กซ์พีเรียนส์ในกรุงเทพฯ มีราคาต่ำกว่า 2,500 บาท

“เนท” บอกว่า แอร์บีแอนด์บีเป็นบริษัทระดับโลก และได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดอเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงเอเชีย โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือมิลเลนเนียล ขนาดใหญ่ถึง 400 ล้านคน ซึ่งถือเป็นคลื่นลูกใหญ่มาก

เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หากมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายหลัก ๆ เมื่อไหร่ อยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตผ่านการท่องเที่ยว มากกว่าเก็บเงินซื้อบ้านและรถ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ “แอร์บีแอนด์บี” มุ่งที่จะขยายขนาดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจลักษณะนี้ยิ่งใหญ่ยิ่งดี เมื่อมีตัวเลือกบ้านพักให้เลือกมาก คนก็จะเข้ามาใช้บริการมากตามไปด้วย บางครั้งคนที่เข้ามาพักแล้วเห็นว่าบ้านพักของตัวเองมีศักยภาพในการเปิดให้บริการก็จะเข้ามาสมัครเป็นเจ้าบ้านในระบบเพิ่มขึ้น

ถก ก.ท่องเที่ยววางกฎระเบียบ

“เนท” บอกด้วยว่า เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เข้าพบ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการท่องเที่ยว ตัวเลขผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงนำเสนอคู่มือในการออกนโยบายให้รัฐบาล เนื่องจากแอร์บีแอนด์บีเป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจท่องเที่ยว

พร้อมนำกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐจาก 200 เมืองทั่วโลก มานำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯของไทยด้วย เพราะหากธุรกิจที่พักประเภทโฮมแชริ่งได้รับการยอมรับจากรัฐบาล และถูกต้องตามกฎหมาย แอร์บีแอนด์บีเชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อเจ้าของบ้านพักที่เข้าร่วมระบบ และเอื้อให้นักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการมากยิ่งขึ้นไปอีก

ตอบโจทย์กระจายรายได้

ไม่เพียงเท่านี้ โมเดลธุรกิจแอร์บีแอนด์บียังตอบโจทย์เรื่องกระจายรายได้ท่องเที่ยวไปในหลากหลายพื้นที่ด้วย โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่า 74% ของที่พัก อยู่ห่างจากพื้นที่หลักที่มีโรงแรม และ 86% ของนักเดินทางมีความต้องการพักอาศัยแบบคนท้องถิ่น

ขณะที่อัตราการเข้าก็พักนานกว่านักเดินทางทั่วไป 2.1 เท่า และ 42% ของผู้เข้าพักใช้จ่ายในท้องถิ่นที่เข้าพัก หนุนให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเข้าถึงชุมชนมากขึ้น เพราะที่พักในระบบแอร์บีแอนด์บีไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยวหลักเท่านั้น

ปัจจุบันมีบ้านพักในไทยที่ขายผ่านแพลตฟอร์มของแอร์บีแอนด์บีอยู่ที่ 5.5 หมื่นแห่ง มากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็เป็นไปตามอัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยกระจายอยู่ในกรุงเทพฯมากสุด 1 หมื่นแห่ง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใช้บริการจองที่พักในไทยผ่านระบบแอร์บีแอนด์บี เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 150%

โดยในปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักในไทย 7.74 แสนคน จากจีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ทั้งนี้ แต่ละปีเจ้าของบ้านสร้างรายได้เฉลี่ย 7 หมื่นบาท จากการปล่อยเช่าเฉลี่ย 30 วันต่อปี

และหากคำนวณเป็นจำนวนเม็ดเงินที่มาใช้จ่ายผ่านแอร์บีแอนด์บีในไทย พบว่าอยู่ที่ราว 1.03 หมื่นล้านบาท พร้อมคาดว่าธุรกิจแอร์บีแอนด์บีจะยังเติบโตสูงต่อเนื่อง แม้ในไทยจะมีโรงแรมในระบบจำนวนมากแล้วก็ตาม

“เฟฟสเตย์” เร่งขยายทั่วเอเชีย

ขณะที่ “เฟฟสเตย์” (favstay) สตาร์ตอัพสัญชาติไทยก็ยังรุกทำตลาดต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ “สุชาดา เตโชติรส” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟฟสเตย์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่ม “ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล” และถือหุ้นอยู่ 9.24% บอกว่า ปัจจุบันมีรายการสินทรัพย์ที่เป็นบ้านพัก หรือคอนโดมิเนียม มากกว่า 11,000 รายการที่ขึ้นทะเบียนกับบริษัท

ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายตลาด การพัฒนาเทคโนโลยี และจัดหาบุคลากร เพื่อตอบโจทย์คอนเซ็ปต์ของการเป็นทางเลือกในการเป็นผู้ให้บริการที่พักแบบแบ่งปัน ทั้งบ้านพัก หรือคอนโดฯ ที่แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ที่มีอยู่ในตลาด เพื่อทำให้ “เฟฟสเตย์” สามารถขยายและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดตามกลยุทธ์ที่วางไว้

โดยวางแผนที่จะเพิ่มรายการสินทรัพย์ที่มีอยู่อีก 6 เท่าตัว และจะขยายธุรกิจไปยังประเทศเวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย และกัมพูชา ภายในปี 2560 อีกทั้งขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เหลือในเอเชียในปีถัดไป

การเติบโตของธุรกิจในรูปแบบ “แชริ่งอีโคโนมี” ในขณะนี้ ได้กระตุ้นให้การตลาดของธุรกิจท่องเที่ยว ต้องปรับตัวกันมหาศาลในอนาคต…