ดึง “อาลีเพย์” หนุนเที่ยวไทย เอกชนแนะรัฐคิดให้ครบ “ทุกมิติ”

ในปี 2561 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นมูลค่ารวมที่ราว 2 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกระจายไปยังหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน ธุรกิจขนส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้าและร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป

โดยมี “เทคโนโลยี” เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ และเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มการจองที่พัก และจำหน่ายสินค้าด้านการท่องเที่ยวรวมถึงระบบการชำระเงิน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นผู้ประกอบการต่างชาติแทบทั้งสิ้น

ข้อมูลพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือของแพลตฟอร์มต่างชาติโดยปริยาย

เปิดช่องต่างชาติฮุบธุรกิจไทย

แหล่งข่าวในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การรุกของแพลตฟอร์มท่องเที่ยวต่างชาตินั้น หากมองให้ลึกซึ้งจะพบว่า นอกจากจะเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าท่องเที่ยวแล้ว ขณะนี้ยังได้นำ “บิ๊กดาต้า” ที่อยู่ในมือมาเป็นฐานข้อมูลสำหรับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย

โดยที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจับมือกับกลุ่มอาลีบาบาในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น หากมองในมุมการพัฒนาเศรษฐกิจยอมรับว่ามีส่วนผลักดันให้ไทยสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะตลาดจีนผ่านนวัตกรรมด้านดิจิทัลต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

แต่หากมองในภาพรวมแล้วจะพบว่าขณะนี้รัฐบาลไทยเปิดช่องให้กลุ่มธุรกิจจีนเข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจออนไลน์แทรเวลเอเย่นต์ หรือโอทีเอ

ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมมือกับ Ant Financial บริษัทที่ดำเนินการระบบชำระเงิน Alipay ในเครือของอาลีบาบา โดยมีเป้าหมายเจาะกลุ่มสมาชิกประเภท gold, platinum และ diamond ที่มีปริมาณกว่า 120 ล้านคน ด้วยการอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเรื่องการทำ visa on arrival, การขอคืน tax-refund ฯลฯ รวมถึงสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

“การดึงจีนเข้ามาเป็นพันธมิตรนั้นเป็นการเปิดช่องให้ธุรกิจเข้ามาปักธงในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ดังนั้นรัฐบาลไทย และ ททท.ต้องคิดให้รอบด้านมากกว่านี้” แหล่งข่าวระบุ

หวั่น BigData อยู่ในมือต่างชาติ

ขณะที่ “สุรวัช อัครวรมาศ” เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้ข้อมูลว่า หากความร่วมมือครั้งนี้ “อาลีเพย์” ให้ข้อมูลลูกค้ากว่า 100 ล้านคนของเขามาให้ไทยบริหารและดูแลเอง จะเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก เนื่องจากไทยจะมีดาต้าของนักท่องเที่ยวจีน และสามารถทำการตลาดได้ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เชื่อว่าทางฝั่งจีนน่าจะต้องบริหารจัดการเองทั้งหมด เนื่องจากอาลีเพย์เองก็ต้องการหาสิทธิประโยชน์ หรือ privilege ที่แตกต่างให้กับลูกค้า และแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง “วีแชทเพย์” ด้วย และให้ฝ่ายไทยอำนวยความสะดวกและให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ โดยอ้างว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

เมื่อนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย “อาลีเพลย์” จะมีฐานข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวเดินทางไปไหนบ้าง มีพฤติกรรมใช้จ่ายอย่างไร นอนโรงแรมระดับไหน รับประทานอาหารที่ไหน ฯลฯ ทั้งหมดทันที

ชี้ทำลาย “เศรษฐกิจ-ธุรกิจ” ไทย

กลายเป็นว่าประเทศไทยไปช่วยเพิ่มเครื่องมือในการทำการตลาดให้ “อาลีเพย์” และที่สำคัญกว่านั้น คือ ประเทศไทยยังสูญเสียความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางธุรกิจไปด้วย

เพราะเมื่อข้อมูลทั้งหมดของนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวเมืองไทยอยู่ในมือ “อาลีเพย์” เขาสามารถขายข้อมูลเหล่านั้นให้นักธุรกิจเพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้

“สุรวัช” บอกด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจขณะนี้ คือ บิ๊กดาต้า ดังนั้นหลักการคิดของไทยควรคิดหลายๆชั้นและครบทุกมิติว่าการทำการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ นั้น ประเทศไทยได้คุ้มกับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ อย่างไรด้วย

แน่นอนว่าความร่วมมือดังกล่าวนี้ ฝ่ายไทยเองก็ได้ลูกค้ากลุ่มมีกำลังซื้อสูงเข้ามาเที่ยวและจับจ่ายในประเทศไทย แต่ในมุมภาคเอกชนที่ทำธุรกิจก็ไม่อยากเห็นข้อมูล หรือบิ๊กด้าต้าทั้งหมดไปอยู่ในมือกลุ่มทุนจีน

แนะหนุน TAGTHAI เชื่อมดาต้า

“สุรวัช” ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนของไทยพยายามร่วมมือกันพัฒนาแอปพลิเคชั่น TAGTHAI สำหรับเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แทรเวลเอเย่นต์ หรือโอทีเอของประเทศ หากเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลมาช่วยกันพัฒนาให้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวนี้มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้โดยสนับสนุนในด้านการให้ privilege ต่าง ๆ ที่เป็นของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นให้สิทธิพิเศษในด้านการอำนวยความสะดวกในการทำ visa on arrival หรือการขอคืน tax-refund ฯลฯ พร้อมทั้งวางให้ TAGTHAI เป็นตัวกลางในการทำงานประสานกับโอทีเอต่างชาติที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยทั้งหมด

ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายช่วยกันสร้างความแข็งแกร่งให้แพลตฟอร์ของประเทศ ที่สำคัญ ต้องทำให้ TAGTHAI สามารถเก็บบิ๊กดาต้าของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยทั้งหมดได้ด้วย

“ซีทริป” ลงทุนโรงแรม

สอดคล้องกับแหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศปีละราว 10 ล้านคน ทำให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมาเป็นระยะ ทั้งธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร โชว์ (สำหรับนักท่องเที่ยว)รวมถึงโรงแรม โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในรูปแบบ “นอมินี” เป็นหลัก แต่ล่าสุดนี้พบว่ามีกลุ่มทุนจีนรายหนึ่งชื่อว่า “หลู่เย่ว” (LUYUE) ธุรกิจในเครือ Ctrip ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่ของจีน ได้ประกาศเข้ามาลงทุนโรงแรมในประเทศไทยอย่างชัดเจน เนื่องจากเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมของคนจีน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวล้วนได้มาจากฐานดาต้าเบสของ Ctrip ทั้งสิ้น

โดยโฟกัสลงทุนในโรงแรมระดับ 3-5 ดาว ในจังหวัดท่องเที่ยวเป็นหลัก อาทิ กรุงเทพฯ, พัทยา, สมุย, เชียงใหม่ เป็นต้น พร้อมตั้งเป้าเปิดให้บริการได้ถึง 80 แห่งภายในปี 2562 นี้ ภายใต้แบรนด์ Floral

จากปัจจุบันมีโรงแรมในเครือทั้งหมดที่ทำสัญญาแล้ว 800 แห่งในทั่วโลก และเปิดให้บริการแล้ว 500 แห่งใน 10 ประเทศทั่วโลก ซึ่งกว่า 700 โรงแรมตั้งอยู่ในประเทศจีนการเข้ามาลงทุนของกลุ่ม “หลู่เย่ว”ในทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดที่มีนักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางไปเที่ยวนั้น ถือเป็นปรากฏการณ์และตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำบิ๊กดาต้าที่มีมาต่อยอดและวางแผนการลงทุนของกลุ่ม Ctrip

ที่สำคัญ ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้น่าจะเป็น “บทเรียน” ที่ดีและชัดเจนของไทยที่เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ โดยที่ประเทศไทยไม่มีระบบเก็บบิ๊กดาต้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ…