วัดขุมพลังบิ๊ก “ดิวตี้ฟรีโลก” จับคู่ชิงสัมปทาน “สุวรรณภูมิ” เดือด

หลังจากที่ผู้ประกอบการเอกชนที่ซื้อซองประมูลโครงการ “ดิวตี้ฟรี” และ “พื้นที่เชิงพาณิชย์” ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เผยโฉมหน้าพันธมิตรผู้ร่วมลงทุน (joint venture) เพื่อชิงดำในสนามประมูลครั้งนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

โดยทุกรายล้วนเป็นผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่จากเกาหลีอย่าง “ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” ที่ผนึกกำลังกับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส

บริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด ผู้บริหาร “ดีเอฟเอส ดิวตี้ฟรี” ซึ่งเป็นดิวตี้ฟรีสัญชาติฮ่องกง ที่เป็นพันธมิตรของกลุ่มเซ็นทรัล หรือกลุ่ม WDFG UK (World Duty Free Group) ผู้บริหารดิวตี้ฟรีสัญชาติอิตาลี พันธมิตรรายใหญ่ของกลุ่มโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย)

ขณะที่กลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์ฯ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและอาหารรายใหญ่ ที่มีเครือข่ายอยู่ในเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลกนั้น ไม่ได้รายงานชื่อบริษัทร่วมลงทุนในการประมูลครั้งนี้

ส่วน “คิง เพาเวอร์” ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยแท้ 100% เพียงรายเดียว และเป็นผู้ได้รับสัมปทานรายเดิมนั้นก็ได้ประกาศตัวลงสนามแข่งขันด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยความแข็งแกร่งของพันธมิตรต่างชาติมาช่วยสนับสนุนแต่อย่างใดเช่นกัน

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกระบวนการหลังจากนี้ว่า ทอท.ได้กำหนดให้ผู้ยื่นซองประมูลทั้ง 2 โครงการ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ นำเสนองานด้านเทคนิคในวันที่ 27-28 พ.ค. และเปิดซองผลตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุด ในวันที่ 31 พ.ค.นี้

เปิดขุมพลังดิวตี้ฟรีโลก

จากการสำรวจของ Moodie Davitt ของสหราชอาณาจักร ได้จัดอันดับ 25 บริษัทที่ทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (duty free retailer) ตามมูลค่ารายได้ปี 2017 (ดูตาราง 10 อันดับที่มียอดขายสูงสุด) พบว่า บริษัท Dufry Group ยักษ์ใหญ่ดิวตี้ฟรีสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ครองอันดับ 1 เป็นบริษัทมีรายได้สูงสุดในปี 2017 อยู่ที่ 7,166 ล้านยูโร หรือราว 255,000 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ คือ Dufry Group คือ เจ้าของ WDFG ซึ่งเป็นพันธมิตรประมูลดิวตี้ฟรีของกลุ่มโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โดย Dufry Group ได้เข้าซื้อกิจการของ “The Nuance Group” สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2014 และซื้อกิจการกลุ่ม WDFG สัญชาติอิตาลี ในปี 2015 ปัจจุบัน Dufry Group มีร้านค้ามากกว่า 2,300 ร้าน ใน 65 ประเทศทั่วโลก ซึ่งครองแชมป์เป็นบริษัทอันดับหนึ่งในตลาดดิวตี้ฟรีมานาน 4 ปีต่อเนื่อง

ในส่วนของ WDFG เปิดให้บริการมากกว่า 550 ร้านค้า ใน 20 ประเทศทั่วโลก ทั้งทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และละตินอเมริกา ซึ่งตลาดที่ WDFG ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ สเปน และสหราชอาณาจักร (UK) โดยมีร้านค้ามากกว่า 11 แห่ง ภายในสนามบินเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

สำหรับ “Lotte Duty Free” พันธมิตรของบางกอกแอร์เวย์ส ถูกจัดอยู่อันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่ารายได้อยู่ที่ 4,842 ล้านยูโร หรือราว 173,000 ล้านบาท ปัจจุบันเปิดให้บริการร้านค้าอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดย “โสมขาว” เป็นตลาดที่สำคัญ และเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท

ส่วนบริษัท DFS ที่เป็นพันธมิตรของกลุ่มเซ็นทรัล ติดอยู่ลำดับที่ 4 ตามรายงานมีรายได้ในปี 2017 ประมาณ 3,670 ล้านยูโร หรือราว 131,000 ล้านบาท มีร้านค้าให้บริการทั้งหมดในปัจจุบัน 420 แห่ง กระจายอยู่ทั่วโลก

ขณะที่ “คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์” ยักษ์ธุรกิจดิวตี้ฟรีของประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่มีรายได้เป็นอันดับ 7 ด้วยมูลค่า 2,141 ล้านยูโร หรือราว 76,000 ล้านบาท

สำหรับ บริษัท เอ็มไพร์ เอเซีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรของกลุ่มโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ก่อตั้งมาแล้ว 13 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีรายชื่อผู้ก่อตั้งคณะกรรมการบริษัท ได้แก่ นางสาวสุวรรณทิพย์ ชัยสำเร็จ, นายยุทธพงษ์ อินทรพาณิชย์ และนางสาวอิสรีย์ เบญจรัตนาภรณ์

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ นักธุรกิจที่ใกล้ชิด ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ก่อตั้ง และมี นายวิสิทธิ์ น้อยพันธุ์ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท

“ล็อตเต้” ควงหมอเสริฐบี้ “คิง เพาเวอร์”

แหล่งข่าวในธุรกิจดิวตี้ฟรีรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ทุกค่ายทั้งเปิดตัวพันธมิตรออกมาแล้วมองว่า กลุ่มบางกอกแอร์เวย์สที่จับมือกับล็อตเต้ น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกดดัน “คิง เพาเวอร์” ในการประมูลรอบนี้

เนื่องจากวิธีการทำธุรกิจของหมอเสริฐ-ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถผู้กุมบังเหียนใหญ่แห่งบางกอกแอร์เวย์สนั้น “ใจถึง” และกล้าทุ่มเงินเพื่อให้บริษัทมีพื้นที่ยืนในตลาดและยอมที่จะให้ธุรกิจ “ขาดทุน” ในช่วงเริ่มต้น เพื่อแลกกับการเริ่มต้นในธุรกิจใหม่ ไม่ได้คิดแค่ “กำไร” หรือ “ขาดทุน”

ทั้งนี้ คนในวงการต่างวิเคราะห์กันว่า “ล็อตเต้” มีเป้าหมายหลักอยู่ที่สัญญาดิวตี้ฟรีของ 3 สนามบินในภูมิภาค (เชียงใหม่-ภูเก็ต และหาดใหญ่) เนื่องจากมีความเป็นได้ในการแข่งขัน และน่าจะมีโอกาสมากที่สุดนั่นเอง

ส่วน ค่ายเซ็นทรัล แม้ว่าจะผนึกกำลังกับกลุ่มดีเอฟเอส สิงคโปร์ แต่เป็นค่ายที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการที่สูงมาก หากเทียบกับรายอื่น ๆ ในธุรกิจด้วยกัน บวกกับนโยบายในการทำธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ต้องอยู่บนพื้นฐาน “กำไร-ขาดทุน” เป็นหลัก จึงอาจจะยังไม่กล้าทุ่มทุนมากนัก หากมองเรื่องความเป็นไปได้ทางธุรกิจเป็นที่ตั้ง

ขณะที่ “คิง เพาเวอร์” นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะวงในระบุว่าเป็นค่ายที่ซุ่มทำข้อเสนอมาเป็นปีแล้ว เรียกว่า ทอท.เรียกประมูลเมื่อไหร่ พร้อมทุกเวลา และแน่นอนว่าความเป็นผู้ประกอบการรายเดิมก็ต้องทุ่มสุดตัว เพื่อรักษาพื้นที่เดิมเอาไว้

จับตาประมูล “พื้นที่เชิงพาณิชย์” เดือด

สำหรับในส่วนของการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่มีผู้สนใจซื้อซองทีโออาร์ 4 ราย คือ คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ, เซ็นทรัลพัฒนา, เดอะมอลล์ กรุ๊ป และไมเนอร์ อินเตอร์ฯ ซึ่งทุกรายประกาศพร้อมลงสนามแข่งขันด้วยตัวเอง เนื่องจากทุกค่ายมีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจรีเทลแล้วทั้งสิ้น

ผู้คร่ำหวอดธุรกิจดิวตี้ฟรีอีกรายหนึ่งบอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการแข่งขันในรอบนี้ สนามที่น่าจะแข่งขันกันดุเดือดมากที่สุด คือ สัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เนื่องจากเอกชนที่ประกาศเข้าร่วมประมูลล้วนมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจค้าปลีกมาอย่างโชกโชนทั้งสิ้นต่างจากสัญญา “ดิวตี้ฟรี” ซึ่งหลายฝ่ายยอมรับว่า ผู้ชนะในเกมนี้น่าจะยังเป็น “คิง เพาเวอร์” เจ้าเดิม

แต่สำหรับในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทุกเจ้ามีประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีก และหากดูตามความเชี่ยวชาญและประสบการณ์แล้ว “คิง เพาเวอร์” ผู้รับสัมปทานรายเดิม ดูจะเสียเปรียบคู่แข่งอีก 3 รายด้วยซ้ำ ซึ่งหากประเมินจากพละกำลังในการประมูลครั้งใหญ่ ๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานดอนเมืองที่กลุ่ม “เดอะมอลล์” เป็นผู้คว้าสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปหรือ “อู่ตะเภา” ที่ประมูลไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา “เซ็นทรัล” เป็นผู้คว้าสัมปทานในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปครอง

สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรอบนี้ นอกจาก “เซ็นทรัล-เดอะมอลล์” แล้ว ยังมี “ไมเนอร์ อินเตอร์ฯ” ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการพื้นที่ในสนามบินมารองรับธุรกิจอาหารเป็นจำนวนมากนั้น ก็ประกาศตัวเข้ามาชิงดำอย่างชัดเจนด้วยอีกราย


บวกกับแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารของ “สุวรรณภูมิ” ที่มีมากกว่า 60 ล้านคนต่อปีในปัจจุบันแล้ว ยิ่งทำให้พื้นที่เชิงพาณิชย์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นแบบทวีคูณ…