“เที่ยวไทย” ออกตัวอืด ! “แอร์ไลน์-โรงแรม” กำไร Q1 ลดฮวบ

จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 10.8 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักลดลง 2.1% และ 2.5% ส่วนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น, มาเลเซีย และเกาหลียังคงรักษาการเติบโตได้ในอัตรา 9.5%, 8.4% และ 7.1% ตามลำดับ ขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดียเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 25%

การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวของไทยที่ต่ำในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา บวกกับการแข่งขันของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ทุกค่ายมีกำไรในอัตราที่ลดลงอย่างชัดเจน

 

แอร์ไลน์ต้นทุน (ยัง) พุ่งไม่หยุด

โดย “บางกอกแอร์เวย์ส” ภายใต้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า ไตรมาส 1/2562 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 7,789.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.5%

โดยเป็นผลมาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และรายได้ที่ไม่ได้แบ่งตามสายธุรกิจ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.6% และ 35% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายได้จากธุรกิจการบินได้ปรับตัวลดลง 4.2% เนื่องจากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินภายในประเทศ ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 510.8 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 208.5 ล้านบาท หรือ 29%

เช่นเดียวกับ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น(AAV) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่รายงานว่าในไตรมาส 1/2562 บริษัทมีรายได้รวม 11,623 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 903.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 51% หรือประมาณ 926 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลจากต้นทุนการขายและบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยหลัก ๆ มาจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับค่าบริการในสนามบินและลานจอด รวมถึงค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม “ไทยแอร์เอเชีย” มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 4% หรือ 5.86 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นตามปริมาณที่นั่งที่เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านพี่ใหญ่ “การบินไทย” นั้น ผลประกอบการไตรมาส 1/2562 ยังคงลดลงเช่นกัน โดย “สุเมธ ดำรงชัยธรรม”กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมา “การบินไทย” มีรายได้รวม 49,791 ล้านบาท และลดลง6.9% มีกำไรสุทธิ 456 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 83.3%

โดยสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นที่เป็นรายได้หลัก รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรง

ประกอบกับมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง เนื่องจากปริมาณการผลิต (จำนวนที่นั่ง) ลดลง ด้วยจำนวนเครื่องบินที่จำกัดที่จำนวน 90 ลำ ต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 94 ลำ ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 989 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2%

นอกจากนี้ “การบินไทย” ก็ยังไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดซึ่งเกิดจากค่าเสื่อมราคา ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มขึ้นจากการปรับลดประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินในสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่ากดดัน ขณะที่การขนส่งคาร์โก้มีรายได้รวมลดลงกว่า 12.9% จากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

รวมถึงเหตุการณ์ปิดน่านฟ้าของปากีสถาน ที่ทำให้การบินไทยต้องยกเลิกเที่ยวบินเส้นทางไป-กลับ ยุโรปในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการจัดเที่ยวบินพิเศษและเปลี่ยนเครื่องบินให้ใหญ่ขึ้นเพื่อทยอยนำผู้โดยสารที่ตกค้างไปยังจุดหมายปลายทาง

และผลกระทบจากกรณีเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ Trent 1000 ต่อเนื่องจากปีก่อน และการจอดเครื่องบินเพื่อทำการซ่อมบำรุงตามตารางการซ่อมปกติ

ด้าน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบิน “นกแอร์” ที่รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/2562 ว่า บริษัทมีรายได้รวมที่ 3,468.77 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 848.07 ล้านบาท หรือ 19.65%

ทั้งนี้ เป็นผลจากการลดขนาดฝูงบินทำให้มีจำนวนเครื่องบินลดลง 19.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บวกกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงและจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง

ส่งผลให้บริษัทมีตัวเลขขาดทุนสุทธิรวม 281.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 777.08%

ราคาห้องพักร่วงทุบรายได้

ส่วนในฟากของธุรกิจโรงแรมนั้นก็พบว่าผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ก็มีผลประกอบการในส่วนของ “กำไร” ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน

โดย บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ระบุว่า ไตรมาส 1/2562 มีรายได้รวม 5,643 ล้านบาท ลดลงช่วงเดียวกันของปีก่อน 98.3 ล้านบาท หรือ 1.7% โดยธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวม 2,755.6 ล้านบาท หรือประมาณ 48.8% ลดลงจากปีก่อน 193.2 ล้านบาท หรือ 6.6%

ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยลดลง 5.7% จากการลดลงของอัตราการเข้าพักจาก 86% เป็น 83.3% และราคาห้องพักเฉลี่ยลดลง 2.6% และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดห้องจำนวน 36 ห้องของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ท สมุย ตั้งแต่พฤษภาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน

ด้าน บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW รานงานว่า ไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 1,775 ล้านบาท ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 1% มีกำไรสุทธิ 235 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18%

โดยในช่วงดังกล่าวนี้โรงแรมในเครือ (ยกเว้นฮ็อปอินน์) มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักลดลง 9% เช่นเดียวกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ลดลง 3% และค่าห้องพักเฉลี่ยลดลง 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมถึงจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในไตรมาส 1 และการชะลอตัวของกลุ่มลูกค้าต่างชาติในตลาดประชุมสัมมนา

เช่นเดียวกับ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ที่ระบุว่า มีรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 1/2562 จำนวน 28,848 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้น 79% มีกำไรสุทธิ 633 ล้านบาท ลดลง 63%

ตัวแปรที่ฉุดให้กำไรของกลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์ฯ ลดลงอย่างชัดเจนนั้นเป็นผลจากการขาดทุนของ “เอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป” เนื่องจากไปโลว์ซีซั่นธุรกิจท่องเที่ยวของทวีปยุโรป ขณะเดียวกันการลงทุนในเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป ยังทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น รวมถึงอัตราภาษีที่สูงขึ้น

จากตัวเลขผลประกอบการดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนว่า แม้ว่าไตรมาส 1/2562 จะเป็น “ไฮซีซั่น” ของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ยัง “ออกตัว” ได้ไม่สวยงามนัก

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!