ประกาศใช้พ.ร.บ.ฯท่องเที่ยวใหม่แล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายประกันเอง

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ประกาศใช้พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยรายละเอียดในพ.ร.บ.ที่สำคัญคือเปลี่ยนจากกฎกระทรวงเป็นประกาศกระทรวง เพื่อให้การจัดทำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว หรือคลัสเตอร์ท่องเที่ยวทำได้คล่องตัวมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ฯฉบับปรับปรุงนี้ยังกำหนดให้ภาครัฐสามารถบังคับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยต้องชำระค่าประกันภัยประกันชีวิตให้ตนเอง เพื่อที่ภาครัฐจะนำเงินส่วนนี้ไปซื้อกรมธรรม์คุ้มครองนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แบบครอบคลุมทุกคน โดยไม่ต้องรบกวนเงินภาษีจากประชาชนในประเทศ “แต่ละปีรัฐต้องแบกรับค่ารถฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาล ค่าจัดการศพให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะไม่สามารถเรียกเก็บจากใครได้ประมาณ 300 ล้านบาท”

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า หากจัดตั้งคลัสเตอร์ท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้ไทยสามารถประกาศกลุ่มจังหวัดพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างครอบคลุม อาทิ การประกาศให้มี 18 กลุ่มจังหวัดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทยก็ใช้อยู่ รวมถึงมีกฎหมายผังเมืองและกฎหมายงบประมาณรองรับกลุ่มจังหวัดเหล่านี้อยู่แล้ว ทำให้การจัดทำแผนพัฒนาเขตการท่องเที่ยวอย่างมีบูรณาการและมุ่งสู่ความยั่งยืนก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ต่างกระทรวงต่างดำเนินการ นอกจากนี้คลัสเตอร์และปรับปรุงได้ตามจำเป็น อาทิ คลัสเตอร์พัฒนาเขตการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับการมาถึงใหม่ของรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ หรือการเชื่อมกลุ่มจังหวัดที่มีสนามบิน และการเชื่อมกลุ่มจังหวัดที่ใช้ทะเลเดียวกัน

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังแก้ไขนิยามคำว่าการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมคำสำคัญมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเป็นธรรมต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวและการมุ่งสู่ความยั่งยืน ดังนั้นคณะกรรมการทั้งระดับชาติและระดับพัฒนาเขตพื้นที่ จึงต้องทำหน้าที่ของตนให้ตรงกับเป้าประสงค์ในคำนิยามตามกฏหมายนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นการกำกับเป้าหมายอีกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการผลประโยชน์ของเศรษฐกิจหรือธุรกิจบังตาแบบเดิมอีกต่อไป จึงเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ทุกฝ่ายทุกระดับสามารถมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมในการขับเคลื่อน “ท่องเที่ยวไทย” ให้รับใช้ทั้งเป้าหมายเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์