ดุสิตฯเสริมแกร่ง “โรงแรม” ปั้น “อาหาร-การศึกษา” หนุนเติบโต

จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา กลุ่ม “ดุสิตธานี” มีรายได้จากธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในสัดส่วนถึง 82.2% คิดเป็นมูลค่า 1,171 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 193 ล้านบาทหรือ 14.1% ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการปิดตัวของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการมิกซ์ยูสเมื่อ 5 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มดุสิตธานีจะมีรายได้จากส่วนธุรกิจใหม่ที่เข้าไปลงทุนกว่า 100 ล้านบาทแต่รายได้รวมยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 273 ล้านบาท หรือ -16.1%และมีกำไรเหลือเพียง 1 ล้านบาท ลดลง 229 ล้านบาท หรือลดลง 99.6%

ตั้งเป้าโต 8-10% ทุกปี

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางของกลุ่มดุสิตธานีในปีนี้ว่า ดุสิตธานีจะเดินยุทธศาสตร์ใน 2 ส่วนหลัก ๆ คือ มุ่งเสริมพอร์ตรายได้ให้ธุรกิจโรงแรมเพื่อมาชดเชยรายได้จากการปิดตัวของดุสิตธานีกรุงเทพฯ และขยายฐานสู่ธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร ซึ่งบริษัทได้เข้าไปลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2561

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีการเติบโตของรายได้รวมให้อยู่ในระดับปีละ 8-10% ได้ในทุก ๆ ปี รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายให้พร็อพเพอร์ตี้ที่บริหารด้วย

โดยในส่วนของการมุ่งเสริมพอร์ตรายได้ให้ธุรกิจโรงแรมนั้นจะดำเนินงานใน 2 แนวทาง ประกอบด้วย การเพิ่มจำนวนโรงแรมในเครือข่าย โดยวางเป้าไว้ 10-12 แห่งต่อปี จากปัจจุบันที่มีโรงแรมในเครือ 32 แห่ง ใน 14 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงแรมที่ลงทุนเอง 9 แห่ง

เปิด รร.ใหม่ 10-12 แห่งต่อปี

“ศุภจี” บอกว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ กลุ่ม “ดุสิตธานี” เปิดตัวโรงแรมใหม่ไปแล้ว 5 แห่ง อาทิ ดุสิตธานี มัคตัน เซบู และดุสิตดีทู ดาเวา ประเทศฟิลิปปินส์, ดุสิต โดฮา ประเทศกาตาร์, ดุสิต มารีน่า เบย์ ประเทศดูไบ เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 6-7 แห่งนั้นจะทยอยเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น ในตลาดจีน, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

“ปีนี้เราคาดว่าน่าจะเพิ่มโรงแรมในส่วนที่เราลงทุนเอง 2 แห่ง ที่เปิดแล้วคือ โรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ และโรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ (ASAI) แบรนด์โรงแรมที่เน้นไลฟ์สไตล์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้ ส่วนที่เหลือจะเป็นการขยายในรูปแบบการรับบริหาร”

รีโนเวตใหญ่ “หัวหิน-พัทยา”

“ศุภจี” บอกอีกว่า นอกจากการเพิ่มโรงแรมเพื่อขยายเครือข่ายแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโรงแรมที่เปิดให้บริการมานานให้มีศักยภาพในการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ลงทุน 300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงแรมดุสิตธานี ภูเก็ต เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำให้โรงแรมสามารถเพิ่มอัตราค่าห้องพักขึ้นได้ระดับหนึ่ง

สำหรับปีนี้บริษัทมีแผนลงทุนอีกกว่า 300 ล้านบาท รีโนเวตโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะทยอยปรับ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จราวเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นมีแผนที่จะรีโนเวตโรงแรมดุสิตธานี พัทยาในปีหน้า ซึ่งนอกจากจะรีโนเวตโรงแรมแล้วยังอาจเห็นการลงทุนใหม่ ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มด้วย

“ตลาดพัทยาตอนนี้ดีกว่าหัวหิน มีอัตราการเข้าพักถึงราว 80-90% เป็นตลาดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งยุโรป, เอเชีย, รัสเซีย ฯลฯ ขณะเดียวกันเรามองถึงการเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของโครงการอีอีซีด้วย ขณะที่หัวหินยังเป็นตลาดที่อยู่เฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์เท่านั้น” ศุภจีอธิบาย

จ่อผุดมิกซ์ยูสอีก 2-3 โครงการ

ขณะเดียวกัน กลุ่ม “ดุสิตธานี” ยังมีแผนจะร่วมพัฒนาโครงการในรูปแบบผสมหรือ mixed-use project อีก 2-3 โครงการหลังจากที่เปิดตัวพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ร่วมกับทางกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา (ดุสิตธานี กรุงเทพฯเดิม)ไปแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดตัวได้ประมาณเดือนกันยายนนี้

โดย 1 ใน 3 โครงการดังกล่าวนี้ คือ โครงการมิกซ์ยูสที่ร่วมพัฒนากับกลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (อนันดาฯถือหุ้น 5%) ซึ่งจะมีทั้งในส่วนของโรงแรม และเรซิเดนซ์ และบางโครงการน่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่มีกำหนดเปิดให้บริการราวปี 2566 ด้วย

ขายดุสิต มัลดีฟส์-เช่าบริหารต่อ

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดล่าสุดยังได้อนุมัติให้ปรับโครงสร้างสินทรัพย์ของบริษัท โดยขายสินทรัพย์ของบริษัทที่เกี่ยวกับโครงการโรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์ และลงทุนในหน่วยลงทุนกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DREIT) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จในช่วงประมาณไตรมาส 3

การปรับโครงสร้างดังกล่าวนี้ถือเป็นช่องทางในการระดมเงินทุนเพื่อการขยายกิจการอีกทางหนึ่งด้วย ขณะเดียวกันยังคงทำให้บริษัทมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ และสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีกด้วย

ปั้นธุรกิจอาหารหนุนการเติบโต

สำหรับการขยายฐานไปยังธุรกิจใหม่ นั้น “ศุภจี” อธิบายว่า ที่ผ่านมากลุ่ม “ดุสิตธานี” ได้ขยายฐานไปยังธุรกิจการศึกษา แต่ธุรกิจการศึกษานั้นไม่ได้ตอบโจทย์ในด้านของรายได้และกำไรให้บริษัทมากนัก บริษัทจึงหันมาลงทุนในธุรกิจอาหารผ่านบริษัท “ดุสิต ฟู้ดส์” อย่างเป็นจริงเป็นจังในปีนี้ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องแกง น้ำจิ้มไทยของตัวเอง ภายใต้แบรนด์ “ของไทย”หรือ KHONG THAI ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก

โดยในปีแรกนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 400 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2564 และขยายการให้บริการ catering ของบริษัทเอ็บเพอคิวร์ฯ

ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเปิดบริการร้านอาหารไทยต้นตำรับดั้งเดิม ภายใต้ชื่อ “บ้านดุสิตธานี” ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

“ในส่วนของผลประกอบการทั้งปีนั้นไม่มีอะไรที่เป็นกังวล เพราะเรายังมีตัวเลขกำไรจากการลงทุนระยะยาวที่กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาต้องดูแลกำไรให้ในช่วงที่ปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งมีมูลค่าปีละ 200 ล้านบาท เข้ามาจนกว่าโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะเปิดให้บริการได้ หรือในปี 2566”

พร้อมทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า กลุ่ม “ดุสิตธานี” จะมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจโรงแรมราว 70% จากธุรกิจการศึกษา 15% และจากธุรกิจอาหาร 15% และมีการเติบโตของรายได้ต่อเนื่องได้ในทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 8% ด้วย