ธุรกิจ”แอร์ไลน์”โค้งท้ายเดือด “บางกอกแอร์เวย์ส”บูมสมุยดึงกลุ่มยุโรป

“บางกอกแอร์เวย์ส” ชี้แนวโน้มครึ่งปีหลังแอร์ไลน์แข่งเดือด ทุกค่ายเล่นกลยุทธ์ราคาอย่างหนัก คาดส่งผลตัวเลขกำไรปีนี้ รุกโปรโมต “สมุย” ในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปแข่งเมืองชายทะเลอื่น จ่อเปิดเส้นทางบินใหม่สู่ “ฟูก๊วก” เวียดนามตุลาคมนี้ ตามแผนนำเสนอจุดหมายที่โดดเด่นด้านธรรมชาติ-วัฒนธรรม ย้ำยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ “โค้ดแชร์” ดูดลูกค้าต่างชาติ

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า แนวโน้มการแข่งขันในของธุรกิจสายการบินในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงรุนแรงเช่นเดิม เพราะทุกสายการบินต่างขยายกำลังการผลิตที่นั่ง และยังคงนำราคามาเป็นตัวสู้กันเพื่อชิงผู้โดยสาร

แข่งขันรุนแรง-กระทบกำไร

โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้คาดการณ์ไว้ว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีปริมาณผู้โดยสารเติบโต 11% ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งปีหลังนี้จะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) เฉลี่ยที่ 65-67% ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ผ่านมาที่มีโหลดแฟกเตอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 67%

นายอนวัชกล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสายการบินของบริษัทในปีนี้ อาจจะไม่ทำกำไร หรือทำกำไรได้ไม่มาก แต่ยังดีที่บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ อย่างธุรกิจสนามบิน ครัวการบิน บริการภาคพื้น และอาคารคลังสินค้ามาช่วยในเรื่องการทำกำไร

เพิ่มน้ำหนักโปรโมต “สมุย”

ปัจจุบันเส้นทางที่ทำรายได้หลักให้บางกอกแอร์เวย์ส คือเส้นทางเข้า-ออกเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีสัดส่วนรายได้ 47% ของรายได้จากการขายตั๋วบินทั้งหมด มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุด แต่สมุยก็ยังต้องแข่งกับจุดหมายหาดทรายชายทะเลอื่น ๆ ในโลก โดยเฉพาะเกาะในภูมิภาคเอเชีย ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพราะนักท่องเที่ยวพร้อมจะย้ายไปเที่ยวจุดหมายอื่นแทน เมื่อเห็นว่าน่าสนใจมากกว่าเกาะสมุย

“ปกติแล้วในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปี จะเป็นไตรมาสที่ดีของเกาะสมุย เพราะนักท่องเที่ยวยุโรปนิยมเดินทางมาพักร้อนกันในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม เรามองว่ายังต้องดำเนินกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์เกาะสมุยมากกว่านี้ เพราะชาวยุโรปยังรู้จักสมุยไม่ทั่วถึงนัก”

เปิดบินสู่ “ฟูก๊วก” เวียดนาม

ด้านแผนขยายธุรกิจของบริษัทนั้น นายอนวัชกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนตุลาคมนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่จาก กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – ฟูก๊วก ประเทศเวียดนาม จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ เมืองฟูก๊วกนับเป็นจุดหมายหาดทรายชายทะเลแห่งใหม่ และกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เหมือนเมืองดานัง เวียดนาม ที่บริษัทเพิ่งเพิ่มความถี่เที่ยวบิน จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นเส้นทางใหม่ที่ได้รับการตอบรับดีเช่นกัน

“เรามองว่าภายในภูมิภาคนี้ ยังมีเมืองใหม่ ๆ อีกหลายเมืองที่มีจุดเด่นทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รอให้สายการบินเข้าไปเปิดเส้นทางบิน โดยเราได้วางกลยุทธ์เข้าไปพัฒนากระแสการท่องเที่ยวในเมืองเหล่านี้ ให้ได้รับความนิยม ด้วยการทุ่มโฆษณาและประชาสัมพันธ์” นายอนวัชกล่าว และว่า เนื่องจากหากยังมีเส้นทางบินเดิม ๆ เมืองเดิม ๆ นักท่องเที่ยวอาจเบื่อ ไม่อยากมาเที่ยวซ้ำ แล้วไปใช้บริการสายการบินอื่นเพื่อไปเที่ยวในจุดหมายใหม่ ๆ แทน เป็นการหาเพชรมาเจียระไน เพื่อนำมาขายได้ในระยะยาว นี่คือกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่สายการบินพันธมิตรทั่วโลกชื่นชม

แบกรับภาษีสรรพสามิตอ่วม

สำหรับ เส้นทางบินภายในประเทศ (ไม่รวมเส้นทางสมุย) ปัจจุบันครองสัดส่วน 24% ของรายได้จากการขายตั๋วบินทั้งหมด เป็นตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงมาก เพราะทุกสายการบินได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา จะเห็นว่าต้นทุนราคาน้ำมันของบางกอกแอร์เวย์ส เพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ตลอดปี 2559 ต้นทุนราคาน้ำมันยังอยู่ที่ 16%

ส่วนปัจจัยเรื่องภาษีสรรพสามิตซึ่ง รัฐบาลปรับขึ้น จากเคยเก็บในอัตรา 1% มาเป็น 23% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ส่งผลให้ทุกสายการบินได้รับผลกระทบ และต้องแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวนี้ไว้ เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ทุกสายการบินไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสาร ได้

เพิ่มโค้ดแชร์ดึง “ต่างชาติ”

สำหรับภาพรวมผู้ โดยสารของบางกอกแอร์เวย์สในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย โดย 3 อันดับแรกของยุโรป คือ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส คิดเป็นสัดส่วน 11% ของรายได้จากผู้โดยสาร ขณะที่ 3 อันดับแรกของเอเชีย คือ จีน กัมพูชา และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน 13% ของรายได้จากผู้โดยสาร โดยที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์หลักด้วยการทำการบินร่วม (โค้ดแชร์) กับสายการบินพันธมิตร ทั้งในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ สกายทีม และวันเวิลด์ ซึ่งส่งต่อผู้โดยสารมาให้บางกอกแอร์เวย์ส จนมีสัดส่วนรายได้จากโค้ดแชร์ 21-23% ของรายได้จากผู้โดยสารทั้งหมด


อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของทุกสายการบินทั่วโลกที่เห็นในช่วงนี้คือ เจอการแข่งขันรุนแรงมาก จนทำให้บางสายการบินลดเที่ยวเข้าประเทศไทย บินไปที่อื่นแทน บางสายการบินก็ลดขนาดเครื่องบินให้เล็กลงให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารแต่ละเที่ยวบินแล้ว