รายได้ท่องเที่ยวไทย “รั่วไหล” ออกนอกประเทศ ?

เป็นที่ถกกันมาเป็นระยะว่า รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีมูลค่ามหาศาล หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมานั้น สุดท้ายแล้วรายได้ที่เกิดขึ้นนั้นเหลือหมุนเวียนอยู่ในประเทศมากน้อยแค่ไหน และกระจายเข้าถึงชุมชนจรหรือไม่อย่างไร

จากรายงานของ UN ATLAS OF THE OCEANS ระบุว่า รายได้จากการท่องเที่ยวของ “ประเทศไทย” อาจรั่วไหลออกไปนอกประเทศกว่า 70% จากหลายช่องทาง อาทิ บริษัททัวร์ สายการบิน และโรงแรมจากต่างประเทศ

ประเทศไทยไม่ใช่แค่ประเทศเดียวที่ปรากฏเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เพราะประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักมีการรั่วไหลของรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเช่นกัน โดยรายงานว่าประเทศในแถบแคริบเบียนมีการรั่วไหลถึง 80% ในประเทศอินเดียมีการรั่วไหลประมาณ 40% เช่นกัน

พร้อมทั้งอธิบายว่า เป็นเรื่องปกติที่ประเทศพัฒนาแล้วจะมีโอกาสได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉลี่ยแล้วรายได้จากการท่องเที่ยวทุก ๆ 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐจะมีเพียงประมาณ 5 เหรียญเท่านั้นที่จะหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

ประเด็นดังกล่าวนี้ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า จากรายงานดังกล่าวของ UN ATLAS OF THE OCEANS นั้น ไม่ได้ปรากฏหลักฐานการวิจัยเป็นหลักฐานอ้างอิงที่จับต้องได้ (hard evidence) ทำให้ยากแก่การวิเคราะห์ว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไร

แต่โดยส่วนตัวประเมินว่า แม้ว่าจะมีการรั่วไหลของรายได้จากการท่องเที่ยวจริง แต่คาดว่าตัวเลขการรั่วไหลอยู่ที่ประมาณ 20-30% จากรายได้รวมทั้งหมดเท่านั้น ไม่น่าจะถึง 70% ตามที่รายงานกล่าวอ้างแต่อย่างใด

พร้อมทั้งอธิบายว่า แม้ไทยจะมีจำนวนเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม บริษัททัวร์ ที่มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่การจ้างงานและวัตถุดิบต่าง ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยการจ้างงานแรงงานไทย และวัตถุดิบในการอุปโภคบริโภคจากในประเทศ ทำให้รายได้ที่ผ่านเข้าสู่บริษัทต่างชาติในไทยบางส่วนก็คืนกลับเข้ามาสู่ประเทศไทย

โดยเฉพาะรายได้ที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหารที่คิดเป็นกว่า 20-30% ของรายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทยในสัดส่วนที่มากกว่าโดยยังไม่รวมรายจ่ายในการทำตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยซึ่งใช้งบประมาณมหาศาล

นอกจากนั้น การเข้ามาของบริษัทระหว่างชาติยังทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกที่หลากหลาย และมีความไว้วางใจในการเดินทางมาเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการไทยและแรงงานไทยได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง พร้อมยกระดับให้เท่าทันโลกอยู่เสมอ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยหลายส่วนแล้วมองว่าขณะนี้ “ไทยยังได้มากกว่าเสีย”

ด้าน “ดร.สุมาลี ว่องเจริญกุล” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) อธิบายว่า ในส่วนของสมาคมที่ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเอเย่นต์ด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่ามีการรั่วไหลของ

รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากจริงผ่านหลายช่องทาง และส่งผลกระทบต่อการประกอบการของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ที่นอกจากจะต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเปิดธุรกิจในไทยด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต่างชาติหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจทัวร์มีการตั้งนอมินีคนไทยเข้ามาบริหารงานแทน เพื่อแบกรับความเสี่ยงจากการหลีกเลี่ยงข้อบังคับทางกฎหมายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของไทย และรอรับกำไรเพียงอย่างเดียวรวมถึงพร้อมที่จะสละบริษัททิ้งทันทีที่เกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม สมาคมและผู้ประกอบการได้รวบรวมข้อมูลและส่งให้กับภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องการท่องเที่ยวของไทยแล้ว โดยแม้ภาครัฐไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของการจัดการมากนัก