เร่งยกระดับ “สปาไทย” สู่ Wellness ดึงนักท่องเที่ยวสุขภาพ

เมื่อเทรนด์สุขภาพ หรือ health & wellness ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ด้านหนึ่งได้ส่งผลบวกต่อธุรกิจสปาที่จัดอยู่ในธุรกิจเพื่อสุขภาพ แต่อีกด้านหนึ่งก็บีบให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับตัวและยกระดับสปาไทยออกจากภาพธุรกิจสีเทา เพื่อสร้างวงการสปาไทยให้ได้มาตรฐานสากล

สร้างมูลค่า ศก. 3.5 หมื่นล้าน

กรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย บอกว่า ลูกค้าหลักของธุรกิจสปาไทย คือ นักท่องเที่ยว ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสปา โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยเติบโตได้ดี ทำให้ธุรกิจสปาและธุรกิจเกี่ยวข้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 35,000 ล้านบาทและมีอัตราการเติบโตประมาณ 8% จากปี 2560

ขณะที่ในไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา สถานการณ์ภาพรวมธุรกิจสปาไทยอยู่ในระดับทรงตัว สามารถเติบโตได้ตามปกติ แต่ไม่ได้เติบโตอย่างหวือหวา ส่วนในไตรมาส 2 ที่กำลังจะมาถึงคาดว่าธุรกิจสปาจะยังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

ยกระดับมาตรฐาน “สปาไทย”

อย่างไรก็ตาม สมาคมและผู้ประกอบการธุรกิจสปา คาดหวังให้เกิดการยกระดับมาตรฐานธุรกิจสปาในภาพรวมมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีธุรกิจสปาที่จดทะเบียนถูกต้องอยู่ภายใต้ “พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559” เพียง 4,000 แห่ง จากสถานประกอบการสปาทั่วประเทศไทยกว่า 40,000-50,000 แห่ง ซึ่งสถานการณ์ประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐานสถานประกอบการคุณภาพจะส่งผลให้มาตรฐานธุรกิจสปาในไทยและการเป็นฮับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ธุรกิจสปาไทยสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน

สมาคมสปาไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงพยายามส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานสปาไทยให้ทัดเทียมสากล โดยพยายามดึงให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเข้าสู่ระบบภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

โหมกิจกรรมหนุนผู้ประกอบการ

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมเล็งเห็นว่าจุดอ่อนของวงการสปาไทย คือการขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจและปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจของตน สมาคมจึงได้จัดกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้ให้กับทั้งสมาชิกและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมทุก 2 เดือนอย่างสม่ำเสมอ

พร้อมทั้งจัดกิจกรรมอย่าง Thailand Spa & Well-being Summit ที่มีทั้งกิจกรรมให้ความรู้จากวิทยากรไทยและเทศ รวมถึงกิจกรรมมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการที่มีการจัดการได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐานเป็นประจำทุกปี

นอกจากนั้น สมาคมยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในการจัดงาน Creative Spa & Wellness Thailand Semi-nar พลิกแนวคิด สร้างจุดขาย สู่สปาสร้างสรรค์ เพื่อเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการสปาและนวดไทยแบบครบวงจร

ขณะเดียวกัน ขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างการพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อต่อยอดงาน Thailand Spa & Well-being Summit ให้เข้าถึงผู้ประกอบการสปาและนวดไทยในจังหวัดอื่น ๆ นอกจากเมืองท่องเที่ยวหลักมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมถึงกระจายการท่องเที่ยวออกไปสู่ท้องถิ่น ให้รายได้จากการท่องเที่ยวเข้าถึงชุมชนและธุรกิจขนาดย่อมต่อไป

ดิสรัปต์สู่ธุรกิจ “เวลเนส”

สอดคล้องกับ “วัลวลี ตันติกาญจน์” ประธานสมาพันธ์สปาไทย ที่อธิบายว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่คนไทยและต่างชาติเริ่มทำความรู้จักกับสปาไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นช่วงที่สปาไทยมีความโดดเด่นจนสามารถปลีกตัวแยกออกจากภาพธุรกิจสีเทาได้ แต่ในขณะเดียวกัน เทรนด์ของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวก็เริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นผลบวกต่อสถานการณ์สปาไทย แต่ในอีกทางหนึ่งการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพก็ได้รับความสนใจมากจนธุรกิจเพื่อสุขภาพอื่น ๆ ดิสรัปชั่นสถานประกอบการสปาดั้งเดิม

ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการสปาไทยกลับมาค้นหาศักยภาพของตนเอง เพื่อหาจุดแข็งทางด้านการตลาดที่สอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดได้โดยการปรับตัวและยกระดับมาตรฐานของผู้ประกอบการ และจำเป็นที่จะต้องทำตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่บุคลากร ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ และการบริการ

“สมาพันธ์สปาไทยได้ร่วมกับสมาคมสปาไทยทั่วทุกภาคของประเทศไทย เน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัดหาทรัพยากรจากท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกันเป็น 1 ท้องถิ่น 1 ผลิตภัณฑ์เด่น เพื่อสร้างอัตลักษณ์และจุดแข็งที่เชื่อมโยงกับความเป็นพื้นถิ่นซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจในขณะนี้ให้กับสปาไทยทั่วทั้งประเทศ โดยโครงการนี้จะสร้างอิมแพ็กต์ในระดับชาติ ทำให้วงการสปาไทยเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน”

ภูเก็ต “สปา” มูลค่าทาง ศก. 40% 

ขณะที่ “รัตนดา ชูบาล” นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต เล่าว่า ในระยะหลังจำนวนนักท่องเที่ยวในภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากนักท่องเที่ยว 2 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 15-17 ล้านคนต่อปี นำมาซึ่งความหลากหลายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น และทำให้ธุรกิจสปาในภูเก็ตขยายตัวอย่างรวดเร็วจนธุรกิจสปาในภูเก็ตและอันดามันที่ครองสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจ 30-40% ของมูลค่าทั้งหมด โดยปัจจุบันในภูเก็ตมีเดย์สปาขนาด 40-60 เตียง มากกว่า 30 แห่ง ขนาด 60-200 เตียง มากกว่า 30 แห่ง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสปาด้วย โดยสถานการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้นักท่องเที่ยวจีนวูบหายไปจำนวนมากในช่วงเวลาหนึ่ง และแม้หลังจากเข้าสู่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) เดินทางกลับมาท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการสปาขนาด 60-200 เตียงก็ยังประสบกับสถานการณ์ยากลำบากจากการหายไปของนักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์

เมื่อรวมกับการเข้ามาของเทรนด์สุขภาพที่เห็นได้ชัดจากจำนวนค่ายมวยและสถานประกอบการเกี่ยวกับสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในจังหวัด ทำให้ทางสมาคมและผู้ประกอบการเล็งเห็นว่าจำเป็นที่สมาคมจะต้องพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการภายในจังหวัดสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจด้วยการยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันด้วยจุดเด่นทางธุรกิจที่มีซิกเนเจอร์มากกว่าการขยายขนาดและตัดราคากันเองเหมือนที่ผ่านมา