“เอเย่นต์ทัวร์จีน” ย้ำชัด ! “ไทย” เดสติเนชั่น No.1 ของคนจีน

ท่ามกลางประเด็นปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังคงเข้มข้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของจีน และสถานการณ์การแข่งขันกันดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนของประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย และในภูมิภาคอาเซียนที่ต่างก็หันมาให้ความสำคัญในการทำตลาดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงความหลากหลายของพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนในยุคดิจิทัลล้วนส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนมีทางเลือกในการท่องเที่ยวนอกประเทศเพิ่มมากขึ้น บวกกับสัญญาณการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนไปต่างประเทศที่เริ่มชะลอลงมาตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าจะยังคงอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2562 นี้

คำถามที่หลายฝ่ายอยากรู้ในขณะนี้ คือ “ประเทศไทย” ยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่หรือไม่ อย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมเดินทางไปโรดโชว์งาน “ATTA Roadshow to China 2019” ร่วมกับคณะบริหารของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ณ เมืองเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน, เมืองหนานซาง มณฑลเจียงซี และเมืองฉางชา มณฑลหูหนาน เมื่อวันที่ 26-31 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

โดยทั้ง 3 เมืองดังกล่าวมีประชากรรวมกันราว 150 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นเมืองรองที่เป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี ที่สำคัญ ยังมีเที่ยวบินประจำบินระหว่างประเทศไทย (กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต ฯลฯ) และ 3 เมืองดังกล่าวของจีน รวมกันราว 20 เที่ยวบินต่อวัน รวมถึงเที่ยวบินที่ให้บริการในรูปแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) อีกจำนวนหนี่งด้วย

ไทยครองเดสติเนชั่นอันดับ 1

“โจว จิง จิง” รองผู้จัดการใหญ่หวน จิ้ง โกว๋ หลิ่ว (Huan Jing Guo Lu) บริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ของมณฑลเจียงซี (บริษัทแม่อยู่กรุงปักกิ่ง)และเป็นบริษัทที่ส่งออกนักท่องเที่ยวของมณฑลเจียงซี ออกไปเที่ยวนอกประเทศสูงสุดเป็นอันดับ 1 ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ ในกลุ่มตลาดเอาต์บาวนด์นั้นพบว่า ประเทศไทย คือ เดสติเนชั่นยอดนิยมอันดับ 1 และทะเลของไทยยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฝันของคนจีนในมณฑลเจียงซี

ทั้งนี้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวดีมาก โดยคนจีนที่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยจะรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น ที่สำคัญยังเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวซ้ำได้หลายครั้ง เนื่องจากมีจังหวัดท่องเที่ยวให้ไปเที่ยวจำนวนมาก ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวก็มีความหลากหลาย

ไม่เพียงเท่านี้ไทยยังเป็นประเทศที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

“นอกจากประเทศไทยแล้ว เดสติเนชั่นที่มาแรงและเริ่มเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ดี คือ เวียดนาม แต่คนจีนจะชอบเมืองไทยมากกว่า เพราะเดินทางได้สะดวก” โจว จิง จิงกล่าว และว่า ส่วนโปรดักต์ของไทยที่คนจีนประทับใจมากที่สุด คือ บริการของโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว และช็อปปิ้ง

“กรุงเทพฯ-พัทยา” ฮอตสุด

เช่นเดียวกับ “หยวน จิ้ง” ผู้จัดการใหญ่ ไชน่า ทราเวล (China Travel) ประจำสาขาเจียงซี บริษัทนำเที่ยวโฮลเซลรายใหญ่ ที่กล่าวว่า ไชน่า ทราเวลถือเป็นบริษัทแรกที่นำนักท่องเที่ยวจีนในมณฑลเจียงซีเข้าไปเที่ยวประเทศไทย ในลักษณะชาร์เตอร์ไฟลต์ ตั้งแต่ปี 2011 โดยเส้นทางยอดนิยมของคนจีนในมณฑลนี้ คือ กรุงเทพฯ และพัทยา รองลงมาคือ เชียงใหม่ และเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี)

โดยที่ผ่านมาคนจีนที่ไปเที่ยวประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีความพึงพอใจมาก และส่วนใหญ่ก็เกิดการเดินทางซ้ำแล้วหลายครั้ง เพราะรู้สึกว่าประเทศไทยปลอดภัย อบอุ่น และสามารถเที่ยวได้หลากหลายรูปแบบ

“ตอนนี้เวียดนามก็มาแรงเช่นกัน เพราะแพ็กเกจราคาขายจะต่ำกว่าเส้นทางประเทศไทย ประมาณ 30% แต่คนจีนที่ไปเที่ยวทะเลเวียดนาม (ญาจาง) แล้วจะไม่ค่อยเดินทางซ้ำ ซึ่งต่างจากการเที่ยวเมืองไทย ที่ส่วนใหญ่จะติดใจและเกิดการเที่ยวซ้ำ” หยวน จิ้ง กล่าวและว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ดึงดูดให้คนจีนยังคงวางแผนเที่ยวประเทศไทย คือ มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือฟรี VOA นั่นเอง

ย้ำฟรี VOA ตัวแปรช่วยตัดสินใจ

ด้าน “อู๋ ฮุ้ย ตง” (WU HUI DONG) รองผู้จัดการใหญ่ เจียง หลุ่ย โกว๋ หลุ่ย บริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ระบุว่า ตลาดคนจีนไปเที่ยวไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากประเทศไทยได้พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในหลาย ๆ ด้านอย่างรวดเร็ว ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ฯลฯ รวมถึงทางเข้า ตม.ของสนามบินที่สะดวกและเร็วขึ้น

ที่สำคัญ มาตรการฟรีค่าธรรมเนียมวีโอเอที่ผ่านมาถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ดึงดูดให้คนจีนตัดสินใจเลือกเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ที่ผ่านมา มีจำนวนคนจีนเที่ยวไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ

“สำหรับบริษัทเราตลาดคนจีนไปเที่ยวไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนถึงราว 60% ที่เหลือจะเป็นตลาดญี่ปุ่น, ยุโรป, มาเลเซีย ฯลฯ โดยเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ กรุงเทพฯ กับพัทยา รองลงมา คือ กรุงเทพฯ กับภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งระดับราคาแพ็กเกจเฉลี่ยถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ คือ อยู่ที่ราว 2,000 หยวน” อู๋ ฮุ้ย ตง ระบุ

เมื่อถามถึงกรณีสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของคนจีนหรือไม่

“อู๋ ฮุ้ย ตง” บอกว่า ในช่วงเวลานี้สงครามการค้ายังไม่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและการเดินทางท่องเที่ยวของคนจีน การเดินทางท่องเที่ยวยังคงเป็นความต้องการของคนจีน ซึ่งแน่นอนหากเงินในกระเป๋าลดน้อยลงก็มีความเป็นไปได้ว่าบางส่วนจะเปลี่ยนพฤติกรรมมาท่องเที่ยวระยะใกล้มากขึ้น

พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะยังไม่เกิดสงครามการค้า คนจีนเดินทางไปเที่ยวสหรัฐลดลง เฉลี่ยปีละประมาณ 6% อยู่แล้ว

“หูหนาน” เที่ยวไทยยังพุ่ง

“จาง น่า” รองผู้จัดการทั่วไป HUNAN ZHONGTIE INTERNATIONAL TRAVEL SERVICE บริษัทนำเที่ยวท็อป 5 ของมณฑลหูหนาน กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการในรูปแบบชาร์เตอร์ไฟลต์จากเมืองฉางชา เข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2003 ปัจจุบันให้บริการชาร์เตอร์ไฟลต์เข้าไทย 51 เที่ยวบินต่อเดือน และปีนี้ยังพบว่ามีคนจีนไปเที่ยวไทยผ่าน HUNAN ZHONGTIE มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 40%

“คนจีนชอบเมืองไทย เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย โดยเฉพาะทะเลที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนจีนส่วนใหญ่ชื่นชอบ ปัจจุบันเส้นทางที่ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าคนจีนของเรา คือ กรุงเทพฯ, พัทยา, เชียงใหม่, เชียงราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีเที่ยวบินบินตรง ส่วนภูเก็ต สมุย นักท่องเที่ยวลดลงไปเล็กน้อย”

พร้อมทั้งเสนอว่า อยากให้รัฐบาลต่อมาตรการเว้นค่าธรรมเนียมวีโอเอ ออกไปอีก รวมถึงออกมาตรการใหม่ ๆ มาช่วยกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกครั้งที่มีมาตรการจะได้รับการตอบรับจากคนจีนอย่างมาก

“จาง น่า” ยังบอกอีกว่า คนจีนเที่ยวไทยผ่าน HUNAN ZHONGTIE เฉลี่ยปีละประมาณ 15,000 คน คิดเป็นส่วนแบ่งประมาณ 30% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดที่เดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ โดยแพ็กเกจราคาเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 1,980 หยวน นอกจากนี้ยังมีลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์ ระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 หยวน อีกส่วนหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ความเห็นของกลุ่มบริษัททัวร์ที่มองประเด็นตรงกันมากที่สุด คือ ไทยยังคงเป็นเดสติเนชั่นเป้าหมายในอันดับแรก ๆ ของคนจีนแน่นอน แต่แนวโน้มคนจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่อยากเห็น คือ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ควรจะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ไทยแลนด์…เส้นทางทองคำ

มณฑลหูหนาน เมืองหลวง คือ เมืองฉางชา มีจำนวนประชากรรเกือบ 70 ล้านคน และถือเป็นมณฑลที่มีคนเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศจำนวนมาก โดยพบว่าในจำนวนคนจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย จำนวน 10.5 ล้านคน ในปี 2561 ที่ผ่านมา คิดเป็นนักท่องเที่ยวจากมณฑลหูหนานถึงราว 10%

“เจียง เยี่ยน หนี” (Jiang Yan Ni)รองนายกสมาคมการท่องเที่ยวหูหนาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Hunan Overseas Travel บอกว่า ทางสมาคมการท่องเที่ยวหูหนานให้ความสำคัญกับการทำการตลาดร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งเป็นปีเริ่มให้บริการชาร์เตอร์ไฟลต์จากเมืองฉางชา เข้ากรุงเทพฯ และภูเก็ต จากสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน กระทั่งปัจจุบันนี้เที่ยวบินที่เปิดให้บริการเข้าประเทศไทยก็ยังคงทำการบินอยู่อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความถี่เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ในส่วนสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินประจำก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 1 สายการบิน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 4 สายการบิน และไม่เพียงแค่เมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ อย่างกรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังมีเส้นทางบินสู่สุราษฎร์ธานี และเชียงรายด้วย

“เจียง เยี่ยน หนี” บอกด้วยว่า เมื่อปี 2007 สมาคมการท่องเที่ยวหูหนานได้ร่วมกับช่องหูหนานทีวี เข้ามาถ่ายทำรายการทีวีเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวของไทย ที่เกาะช้าง จ.ตราด ส่งผลให้เกาะช้างเป็นที่รับรู้ของคนจีนทั้งในมณฑลหูหนาน และมณฑลอื่น ๆ อย่างมาก ขณะนี้ทางสมาคมจึงเตรียมประสานกับช่องหูหนานทีวีเข้ามาถ่ายทำรายการทีวีในประเทศอีกครั้ง เพื่อช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวของไทยอีกครั้ง โดยอาจใช้สถานที่เกาะสมุย (ยังไม่สรุป) คาดว่าน่าจะถ่ายทำได้ในปีหน้า

พร้อมยังให้ข้อมูลด้วยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดจีนเที่ยวไทยของมณฑลหูหนานขยายตัวเร็วมาก และเริ่มตกไปบ้างเมื่อ 3 ปีก่อน เนื่องจากรัฐบาลไทยกวดขันเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่เมื่อไทยมีมาตรการฟรี VOA ออกมาช่วยก็สามารถกระตุ้นให้คนจีนเที่ยวไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

สำหรับในส่วนของ “หูหนาน โอเว่อร์ซี” นั้น “เจียง เยี่ยน หนี” บอกว่า หูหนาน โอเว่อร์ซี คือ บริษัทแรกที่เปิดตลาดชาร์เตอร์ไฟลต์จากฉางชาเข้าไทย เมื่อ 10 ปีก่อน

กระทั่งเวลานี้เส้นทางจากฉางชาสู่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นเส้นทางหลัก หรือ “เส้นทางทองคำ” สำหรับคนจีนเหมือนเดิม