เทรนด์”ท่องเที่ยว”เปลี่ยน ดุสิตฯเร่งขยายพอร์ตรับ

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ซีอีโอ “ดุสิตธานี” เผย UNWTO เผยอีก 10 ปีมูลค่าท่องเที่ยวโลกพุ่ง 360 ล้านล้านบาท ชี้เทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยน ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัว พร้อมขยายเซ็กเมนต์หวังกระจายรับกลุ่มลูกค้าใหม่-เพิ่มทางเลือกลูกค้าเก่า กระจายเสี่ยง

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถิติขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) รายงานถึงโอกาสในการเติบโตทางด้านการท่องเที่ยวว่า ในปี 2573 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกสูงถึง 1.8 พันล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวโลกจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.9% ต่อปี ทำให้ประเมินว่าในอีก 10 ปีนับจากนี้ มูลค่าการท่องเที่ยวโลกจะสูงถึง 11.5 ล้านล้านสหรัฐ หรือประมาณ 360 ล้านล้านบาท

จากแนวโน้มดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกที่เติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในไทยที่ในปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตกว่า 7.54% และเชื่อว่าในช่วงปลายปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากถึงราว 40 ล้านคน

นางศุภจีกล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจนมาถึงปัจจุบัน เทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปมาก นักท่องเที่ยวย้ายมาที่กลุ่มชนชั้นกลาง กลุ่มมิลเลนเนียล และกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียหน้าใหม่ ขณะที่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเป็นการจองในวินาทีสุดท้ายมากยิ่งขึ้น สนใจการท่องเที่ยวในพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่มากกว่าการไปรู้เห็น แต่เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของนักท่องเที่ยวไปด้วย ทำให้การตลาดต้องเปลี่ยนไปเข้าหากลุ่มเป้าหมายด้วย personality มากขึ้น ทำให้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวต้องประสบกับความท้าทายหลายอย่าง ทั้งการทำงานบนฐานของความยั่งยืน การรักษาความปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในภาวะการรองรับเกินขีดความสามารถ

เช่นเดียวกับที่อุตสาหกรรมโรงแรมก็ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ รวมถึงการขยายตัวของเชนโรงแรมขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ต้องเร่งปรับตัว โดยแต่ละเชนโรงแรมขนาดใหญ่เองก็มีวิธีการปรับตัวเอาชนะความท้าทายแตกต่างกัน โดยดุสิตกรุ๊ปฯ เตรียมจะขยายธุรกิจให้หลากหลายเพื่อส่งต่อประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานีกล่าวเพิ่มเติมว่า ดุสิตมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจออกไปในหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันธุรกิจโรงแรมประกอบด้วย กลุ่มบริการเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย แบรนด์ดุสิตธานีและดุสิตเดวาราณาในระดับลักเซอรี่ แบรนด์ดุสิตดีทูในระดับมิดสเกล แบรนด์ดุสิตปริ๊นเซสในระดับอีโคโนมี ซึ่งแคแร็กเตอร์แต่ละแบรนด์แตกต่างกัน เช่น แบรนด์อาศัย (ASAI) จะเป็นโรงแรมในรูปแบบบูทีคที่มีแคแร็กเตอร์เฉพาะปรับให้เหมาะกับกลุ่มมิลเลนเนียล เป็นต้น

นอกจากนั้น ในกลุ่มประสบการณ์ (experience) ยังประกอบด้วย Favstay แพลตฟอร์มแชริ่งที่พัก รวมถึง Elite havens ที่ให้บริการวิลล่าหรู และยังอยู่ระหว่างการมองหาแบรนด์โรงแรมราคาประหยัด (budget) เพื่อเข้าไปลงทุนเพิ่มอีกในอนาคต นอกจากนั้น ดุสิตก็ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษาทั้งด้านอาหารและการบริการ พร้อมกับเริ่มต้นลงทุนในธุรกิจอาหารแล้ว

“การขยายธุรกิจออกไปในหลายภูมิภาคทั่วโลกนั้นมีข้อดีที่ได้สะสมพอร์ตโฟลิโอเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่า ลูกค้ากลุ่มเดิมก็มีความต้องการที่หลากหลาย และสามารถกลับมาเป็นลูกค้าเราได้ในหลายรูปแบบ เราจึงพยายามขยายบริการเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมฟูลเซอร์วิส บูทีค แชริ่งเฮาส์ หรือวิลล่าหรู”

นางศุภจีกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับในปี 2562 นี้ บริษัทตั้งเป้าจะทำรายได้เพิ่มขึ้น 8-10% จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 5,500 ล้านบาท ซึ่งเชื่อมั่นว่าธุรกิจอาหารที่ได้เริ่มขยายการลงทุนตั้งแต่ปี 2561 จะเป็นหัวหอกสำคัญของการเติบโตและทดแทนรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ และจะสามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกินสัดส่วน 15% ได้ภายใน 3 ปี พร้อมทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาท

“แม้ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยอาจจะไม่ดีนักด้วยผลกระทบต่อเนื่องจากปีก่อน แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังนี้ สถานการณ์จะมีโอกาสดีขึ้น โดยหวังว่าหลังจากได้รัฐบาลใหม่ และการเมืองดำเนินไปโดยเรียบร้อยก็น่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมองว่า ผู้ประกอบการควรปรับตัวหาตลาดใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจากตลาดใดตลาดหนึ่ง รวมถึงผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับรูปแบบการให้บริการให้สามารถมอบประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น” นางศุภจีกล่าว