“คิงเพาเวอร์”พยัคฆ์ติดปีก กวาดดิวตี้ฟรียึดหัวหาดท่องเที่ยวไทย

“คิง เพาเวอร์” พยัคฆ์ติดปีก กวาดเรียบสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์” รอบใหม่ทั่วประเทศ ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ-ภูเก็ต-เชียงใหม่-หาดใหญ่ เดินเกมรักษาฐานที่มั่นต่อยาวอีก 10 ปี ต่อจิ๊กซอว์อาณาจักรแสนล้านบาท ผงาดยึดหัวหาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มูลค่า 3.04 ล้านล้าน เผยดักกำลังซื้อด่านหน้านักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคนต่อปี 

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เป็นผู้ได้คะแนนสูงสุด และคว้าสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดิวตี้ฟรีใน 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค (ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่) ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดประมูลล่าสุดไปครอบครองได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว

แหล่งข่าวในธุรกิจดิวตี้ฟรีรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประมูลทั้ง 3 สัญญาของ ทอท.ในครั้งนี้ ถือเป็นการเซตมาตรฐานของสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ และยังเป็นการปลดล็อกข้อครหาในประเด็นที่มาที่ไปของสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของคิง เพาเวอร์ เมื่อครั้งเปิดให้บริการเมื่อปี 2548 แม้จะมีข้อกังขากันอยู่ แต่อย่างน้อยก็เป็นการเปิดประมูลที่มีคู่แข่งระดับเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของโลกเข้าร่วม

“คิง เพาเวอร์” พยัคฆ์ติดปีก

ถ้าดูคู่แข่งในการประมูลรอบนี้ถือว่าการได้สัมปทานมาครอบครองของคิง เพาเวอร์ รอบนี้ก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะต้องฝ่าวงล้อมคู่แข่งอย่าง WDEG UK บริษัทลูกของ Dufry Group ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีที่มีรายได้สูงสุดอันดับ 1 ของโลก ที่มาเป็นพันธมิตรกับกลุ่มโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) หรือล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี สัญชาติเกาหลีที่มีรายได้ทั่วโลกเป็นอันดับ 2 ที่ผนึกกำลังกลุ่มทุนระดับแถวหน้าอย่าง หมอเสริฐ-ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของบริษัทการบินกรุงเทพ” แหล่งข่าวกล่าว

นับว่ากลุ่มคิง เพาเวอร์ สามารถก้าวข้ามความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการรักษาฐานธุรกิจเดิมที่รุ่นพ่อ (วิชัย ศรีวัฒนประภา) ได้สร้างขึ้นมาร่วม 30 ปี เพราะต้องยอมรับว่า “ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ” ถือเป็นสัญลักษณ์ความเป็นคิง เพาเวอร์ ได้ชัดเจนที่สุด หากปล่อยให้สัมปทานหลุดมือไปก็เท่ากับว่า brand value ของคิง เพาเวอร์ ก็จะลดฮวบลงไปโดยปริยาย

แหล่งข่าวกล่าวว่า สัมปทานดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ จึงเป็นทั้งเดิมพันอนาคตขององค์กร และการกวาดสัมปทานรอบใหม่ทั้ง 3 สัญญามาครอบครอง ยังเป็นส่วนสำคัญในการพิสูจน์ฝีมือ คอนเน็กชั่นในการบริหารของทายาทในรุ่นลูกของตระกูล “ศรีวัฒนประภา” ได้เป็นอย่างดี แต่จะมีประเด็นที่สังคมติดใจอยู่ก็คือ กรณีที่สัญญาสัมปทานดังกล่าวไม่ต้องเข้ากระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมทุน หรือ PPP

ยึดหัวหาดท่องเที่ยวไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประมูลรอบนี้ทั้ง 3 สัญญา คือ ดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, พื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดิวตี้ฟรีใน 3 สนามบินภูมิภาค (ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่) มีอายุสัญญาสัมปทาน 10 ปี 6 เดือน (ตั้งแต่ 28 กันยายน 2563-31 มีนาคม 2574) ทำให้นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป กลุ่มคิง เพาเวอร์ จะมีความมั่นคงทางธุรกิจออกไปอีกใน 10 ปีข้างหน้า

โดยในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์จะหมดสัญญาในปี 2574 ท่าอากาศยานภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ (สงขลา) สัญญาจะหมดในปี 2574 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา (ชลบุรี-ระยอง) สัญญาดิวตี้ฟรีจะหมดในปี 2571 และท่าอากาศยานดอนเมือง สัญญาดิวตี้ฟรีจะหมดในปี 2565 เตรียมเปิดประมูลใหม่ในปี 2563

ส่วน “ดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี” ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ครอบคลุมเมืองท่องเที่ยวหลักระดับหนึ่งแล้ว โดยในกรุงเทพฯมี 3 แห่ง คือ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ซอยรางน้ำ, คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ศรีวารี ถนนบางนา-ตราด กม.18 และคิง เพาเวอร์ มหานคร ถนนสาทร

นอกจากนี้ ยังมีคิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ พัทยา (ชลบุรี) ซึ่งจับตลาดในภาคตะวันออก และคิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ภูเก็ต ที่จับตลาดเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคใต้

“การได้สัมปทานรอบนี้ ทำให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ สามารถปักธงเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมท่าอากาศยานหลัก ๆ ของประเทศ ทั้งยังมีส่วนของดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีรองรับ ทำให้สินค้าและบริการของคิง เพาเวอร์ สามารถจับกลุ่มนักเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างเบ็ดเสร็จ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ถือได้ว่าคิง เพาเวอร์ ได้ยึดหัวหาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่สนามบินหลักซึ่งเป็นด่านหน้าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในเมืองไทย รวมถึงในส่วนของนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางออกไปต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขทั้ง 2 ส่วนนี้ก็เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี นั่นก็หมายถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคิง เพาเวอร์ ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของผลตอบแทนที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เสนอให้กับ ทอท.นั้นยังไม่มีการเปิดเผย โดยฝ่ายบริหารชี้แจงว่าจะต้องนำผลการคัดเลือกเสนอคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท.ในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 และคณะกรรมการ ทอท.ในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน

อุตฯท่องเที่ยวโตก้าวกระโดด

ขณะที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ทรงพลังในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นจะยังมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถึง 38.5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่ารายได้ถึง 3.04 ล้านล้านบาท และคาดว่าปี 2562 นี้ ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 40.5 ล้านคน สร้างรายได้ที่มูลค่าราว 3.3-3.4 ล้านล้านบาท

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากประเทศไทยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวได้เฉลี่ย 10% ต่อเนื่อง คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยมีโอกาสที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 60 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจำเป็นต้องเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ รองรับให้ทัน ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และภูเก็ต เฟส 2 และโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) มีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท. 139.52 ล้านคน มีเที่ยวบินจำนวน 875,000 เที่ยวบิน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 80.49 ล้านคน

โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย มีผู้โดยสาร 62.81 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 51.15 ล้านคน ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้โดยสาร 40.56 ล้านคน เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 15.83 ล้านคน ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ต มีผู้โดยสาร 18.26 ล้านคน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีผู้โดยสาร 10.81 ล้านคน ท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีจำนวนผู้โดยสาร 4.27 ล้านคน

ลุยต่อ “Pick up Counter”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากที่กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ กวาดสัมปทานใหม่ไปครบทุกสัญญาแล้ว นายสมบัตร เดชาพาณิชกุล รองประธานกรรมการ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ในวันที่เข้ามารับฟังผลการเปิดซองคะแนนผู้ชนะการประมูลบริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาค (10 มิถุนายน 2562) ว่า ก้าวต่อไปของกลุ่มคิง เพาเวอร์ คือ การเข้าร่วมประมูลจุดส่งมอบสินค้า หรือ pick up counter ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ ทอท.มีแผนจะเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า รวมถึงเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ที่จะหมดสัญญาในปี 2565 นี้ต่อไป

ต่อยอดอาณาจักรแสนล้าน

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจดิวตี้ฟรีอีกรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ เติบโตมาพร้อมกับการรับสัมปทานดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานดอนเมือง กระทั่งมีโอกาสเข้าบริหารสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2549 ซึ่งนับเป็นสัมปทานที่ทำให้รายได้ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ เติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาเพียงไม่กี่ปี

จากข้อมูลของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ มีรายได้รวมกว่า 1.13 แสนล้านบาท จากกว่า 10 บริษัท โดยกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลัก คือ ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรี และให้บริการจุดส่งมอบสินค้า หรือ pick up counter มีรายได้รวมในปี 2560 จำนวน 35,633 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,838 ล้านบาท

ส่วนบริษัทในกลุ่มดิวตี้ฟรีที่ทำรายได้สูงสุด คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบธุรกิจดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี และบริหารสื่อโฆษณาในท่าอากาศยานหลายแห่ง มีรายได้รวมในปี 2560 จำนวน 50,684 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,944 ล้านบาท และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ผู้รับสัมปทานจาก ทอท. (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) มีรายได้รวมในปี 2560 ที่ผ่านมา 4,200 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,764 ล้านบาท

คลิกอ่านเพิ่มเติม “คิง เพาเวอร์” คว้าสัมปทานดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาค “ภูเก็ต-เชียงใหม่-หาดใหญ่” ตามโผ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!