ทอท.ปฏิวัติแพล็ตฟอร์มธุรกิจ พร้อมก้าวสู่องค์กรดิจิทัล-นวัตกรรม หลุดพ้นพันธนาการรูปแบบเดิมทุกมิติ

นับตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นั้นภาระกิจหลักคือ การบริหารท่าอากาศยานหรือสนามบิน และรับภาระกิจด้านการขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก

แต่นับจากปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นที่ 40 ของการดำเนินเป็นต้นไป โครงสร้างธุรกิจของบริษัทท่าอากาศยานไทยจะมีความหลากหลาย ทั้งงานในด้านขนส่งผู้โดยสาร ขนส่งสินค้า บริหารพื้นที่รีเทล บริหารดิจิทัล แพล็ตฟอร์มใหม่ ฯลฯ และที่สำคัญโครงสร้างรายได้ก็จะมาจากหลากหลายช่องทางยิ่งขึ้น

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ธุรกิจของ ทอท. ในขณะนี้นอกจากรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน ยังมีธุรกิจด้านขนส่งสินค้า (คาร์โก้), ดิจิทัล แพล็ตฟอร์ม, แอร์พอร์ต ซิตี้ ฯลฯ

เรียกว่า รูปแบบและโครงสร้างธุรกิจของ ทอท. จะหลุดพ้นพันธนาการรูปแบบเดิมๆ ในทุกๆ มิติ โดยจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนตั้งแต่ปี 2563 นี้เป็นต้นไป

มุ่งพัฒนาศักยภาพสนามบิน

โดยปัจจุบัน ทอท. ได้มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานในสังกัดทั้ ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.), ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.), ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.), ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยเฉพาะทสภ.ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 พร้อมด้วยระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563

สำหรับ ทดม.จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ การขยายและปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ส่วนที่ ทภก.อยู่ระหว่างก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 10.5 ล้านคน และก่อสร้างลานจอดอากาศยานรองรับอากาศยาน Code E จำนวน 3 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

เร่งพัฒนานวัตกรรม “ดิจิทัล แพล็ตฟอร์ม”

นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร้วย โดยในปีที่ผ่านมา ทอท.ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนำมาบูรณาการสู่โลกเสมือนจริงในโครงการ Digital Platform เพื่อพัฒนาระบบสื่อสารออนไลน์ในรูปแบบ Application บนอุปกรณ์พกพา เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเลต เพื่อบริหารจัดการท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพการให้บริการ

ทั้งนี้ ทอท.ได้สำรวจความต้องการจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การออกแบบเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และตรงต่อความต้องการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ซึ่งมีการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษา ทสภ.เป็นต้นแบบ เช่น ผลสำรวจความพึงพอใจ ข้อร้องเรียน ความต้องการจากสายการบิน รวมทั้งเทียบเคียงบริการ Application กับท่าอากาศยานชั้นนำ และผลักดันโครงการมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จัดให้มีการสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกสินค้าหรือบริการภายในท่าอากาศยานของ ทอท.

เล็งต่อยอดรายได้จากโลกเสมือนจริง

นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือจากท่าอากาศยานที่ร่วมโครงการข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยานกับ ทอท. (Sister Airport) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกัน โดยในเบื้องต้น Application ดังกล่าวจะมีฟังก์ชันสำหรับให้ผู้โดยสารได้ใช้งานได้ดังนี้ 1. Flight Status and Notification ตรวจสอบสถานะ ข้อมูลเที่ยวบินแบบเรียลไทม์ แนะนำเคาน์เตอร์เช็คอินและสัมภาระ พร้อมแจ้งเตือนเที่ยวบินที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้โดยสารได้มีเวลาเตรียมตัวก่อนไปท่าอากาศยาน

2. Way Finding Service บริการแผนที่อัจฉริยะ (Intelligence Map) ในอาคารผู้โดยสารพร้อมนำทางไปยังจุดต่างๆ 3. Traffic Warning Assistant/Car park Service แจ้งเตือนสภาพการจราจรแนะนำเส้นทางเลี่ยงไปยังท่าอากาศยาน ช่วยวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ และบริการจองที่จอดรถ พร้อมพื้นที่จอดรถพิเศษ (Premium Zone)

4. Mobile Application Translation เครื่องมือช่วยแปลภาษา 5. Shop & Dine Info แหล่งรวบรวมข้อมูลสินค้า ร้านอาหาร ร้านค้าปลอดอากร พร้อมโปรโมชั่นและสิทธิพิเศษ 6. Booking Service บริการจองต่างๆ เช่น ห้องรับรองภายในท่าอากาศยาน จองและเรียกรถรับจ้างสาธารณะทุกประเภท และ 7. AOT Point โปรแกรมสะสมคะแนนจากทุกการใช้จ่ายภายในท่าอากาศยานเพื่อใช้แลกสินค้าหรือบริการภายในท่าอากาศยาน เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้ยังสามารถนำข้อมูลการใช้งาน Application มาเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการภายในท่าอากาศยาน เช่น ปริมาณของผู้โดยสารตามจุดต่างๆ แบบเรียลไทม์ และเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการให้บริการจากผู้โดยสารได้โดยตรง ในส่วนของผู้ประกอบการ และสายการบินสามารถนำข้อมูลมาวางแผนปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ได้ตรงใจผู้โดยสารมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายและสร้างประสบการณ์อันดีแก่ผู้โดยสาร

ทั้งนี้ ทอท.คาดว่าจะสามารถเปิดตัว Application และเปิดให้ผู้โดยสารดาวน์โหลดมาใช้บริการดังกล่าวได้ในเดือนสิงหาคม 2562 นี้

ขณะเดียวกัน ทอท.ยังได้นำนวัตกรรมการบันทึกข้อมูลและประมวลผลโดย Web Based Application (AOT’s Level of Service Application: LoS APP) ผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Device) เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่ง ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาออกและขาเข้า ได้แก่ กระบวนการมาถึงชานชาลา (Curbside) การตรวจบัตรโดยสาร (Check-in) การตรวจค้นผู้โดยสารและสัมภาระ (Security Check Point) การตรวจหนังสือเดินทาง (Immigration Control) การรอขึ้นเครื่อง (Boarding Gate) การรับสัมภาระ (Baggage Claim) การตรวจสิ่งของต้องสำแดง (Custom Control) จนถึงบริการขนส่งสาธารณะออกจากท่าอากาศยาน

โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการท่าอากาศยาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ใช้บริการท่าอากาศยานจะได้รับบริการในระดับที่เหมาะสม ลดปัญหาความแออัดคับคั่งได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เป็นระบบ และรวดเร็ว เพื่อให้การเดินทางของผู้โดยสารเกิดความคล่องตัวและสะดวกสบาย

ที่สำคัญ ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับต่อยอดในด้านรายได้ด้วย

จับตาพอร์ตรายได้ non-aero พุ่ง

“นิตินัย” ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันโครงสร้างรายได้รายได้โดยรวมของ ทอท. แบ่งเป็นรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการการบินประมาณ 67% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน หรือ non-aero 43% แต่คาดว่ารายได้ของปีงบประมาณ 2564 ทอท. จะมีรายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื้องกับธุรกิจการบิน หรือ non-aero เพิ่มขึ้นเป็น 50% ได้แน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจากจะเป็นปีเริ่มต้นที่ ทอท.รับรู้รายได้จากค่าสัมปทานใหม่ของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ที่เข้ามา 2.3 หมื่นล้านบาท รวมถึงรายได้จากธุรกิจขนส่งสินค้า (คาร์โก้) และดครงการแอร์พอร์ต ซิตี้ (บางโครงการ) โครงการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก หรือ Certify Hub โครงการนวัตกรรมของท่าอากาศยาน หรือ Airport Innovation ในด้านมาตรฐานการบริการของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง โครงการดิจิทัล แพล็ตฟอร์มในรูปแบบโมบายแอพลิเคชั่น ฯลฯ

ขณะที่ในฟากของกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบินก็ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเปิดใช้อาคารแซทเทิลไลท์ ซึ่งเป็นทรานซิส เทอร์มินัล พื้นที่รวมประมาณ 250,000 ตารางเมตร ซึ่งก็จะมีส่วนทำให้รายได้ในส่วนของกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการบินเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 20-30%

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า “กำไร” ของ ทอท. ในอนาคตนั้นจน่าจะมาจากกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบิน หรือ non-aero ในสัดส่วนที่มากที่สุด