ASEANTA ดันอาเซียน ขึ้นฮับ Accessible Tourism โลก

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนตัวเลขทางเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศ โดยจะเห็นว่าทุกประเทศทั่วโลกต่างหันมาเร่งโปรโมตภาคการท่องเที่ยวกันอย่างหนัก ส่งผลให้การขยายตัวของกลุ่มนักเดินทางทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว 

การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนได้ชัดเจนจากคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ของสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่เพื่อเชื่อมต่อทั้งระหว่างเมืองหลักสู่เมืองหลัก เมืองหลักสู่เมืองรอง กระทั่งลงลึกไปถึงระหว่างเมืองรองสู่เมืองรอง ฯลฯ 

นักท่องเที่ยวทั่วโลกโต 6%

“มิ่งขวัญ เมธเมาลี” ประธานสมาคมท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA : ASEAN Tourism Association) กล่าวว่า จากรายงานของ UNWTO เกี่ยวกับสถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกในเดือนมกราคม-มิถุนายนปี 2561 ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกโดยเฉลี่ยเติบโตขึ้น 6%โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวยุโรป 713 ล้านคน เติบโต 7% เอเชีย-แปซิฟิก 343 ล้านคน เติบโต 7% อเมริกา217 ล้านคน เติบโต 3% แอฟริกา 67 ล้านคน เติบโต 4% และตะวันออกกลาง 64 ล้านคน เติบโต 5% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 1.4พันล้านคน

นทท.อาเซียนกว่า 100 ล้านคน

ขณะที่สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน หรือ FATA องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการทัวร์ของภูมิภาคอาเซียนจำนวนกว่า 10,000 แห่งระบุว่า ในปี 2561 ประเทศอาเซียนมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 10 ชาติ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 10 อันดับแรก (top ten) ทั้งหมดกว่า 102.44 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนถึงกว่า 28.38 ล้านคน

ส่วนประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ชาติที่มีจำนวนสูงสุด 10 อันดับแรก (top ten) ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และบรูไน

ขณะที่ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจีนสูงสุด ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, ลาว, เมียนมา และบรูไน ตามลำดับ

ทั้งนี้ สถิติจากเว็บไซต์ Agoda.com ยังระบุด้วยว่า นักท่องเที่ยวที่ท่องเที่ยวในอาเซียนนั้นมีความต้องการด้านการท่องเที่ยวที่ต่างกัน อาทิ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมามาเลเซีย จะชอบการ

ท่องเที่ยวเพื่ออาหาร นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะชอบเที่ยวธรรมชาติและทัศนียภาพ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการ

ช็อปปิ้งและความหรูหรา

นอกจากนั้น ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมากเพื่อท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือ wellness tourism ด้วย

ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวอาเซียนยังนิยมเดินทางมากกว่านักท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันตกเป็น 2 เท่าในวันหยุดของครอบครัว โดยในไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียมีจำนวนนักท่องเที่ยวครอบครัวที่เดินทางท่องเที่ยวมากกว่า 5 ครั้งใน 1 ปีเป็นจำนวนมากที่สุด

มุ่งโปรโมต ASEAN as ONE

“มิ่งขวัญ” บอกด้วยว่า จากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอาเซียนนี้ ASEANTA ซึ่งเป็นสมาคมที่มีตัวแทนจากภาคเอกชนในภูมิภาคอาเซียน และพันธมิตรมีเป้าหมาย

ที่จะโปรโมตภูมิอาเซียนในฐานะจุดหมายปลายทางเดียว หรือ ASEAN as ONE โดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน 2016-2025 สัมฤทธิผลผ่านวิธีการต่าง ๆ

อาทิ การตลาด การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยวและมาตรฐาน การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยว

พร้อมทั้งการทำตลาดการท่องเที่ยวอาเซียนในตลาดโลกนั้นจะทำภายใต้แบรนด์ ASEAN as ONE ซึ่งสมาชิกร่วมกันวางรากฐานผ่านการนำอาเซียนออกไปให้ชาวโลกรู้จักและสร้างพันธมิตรระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ องค์กรด้านการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิก (NTOs), สายการบินต่าง ๆ (ASEAN Airlines) เป็นต้น

ก้าวสู่ Accessible Tourism

และนอกจากแผนการทำตลาดการท่องเที่ยวอาเซียนในตลาดโลกนั้น ภายใต้แบรนด์ ASEAN as ONE แล้ว “มิ่งขวัญ” ยังบอกอีกว่า ASEANTA มีเป้าหมายที่จะผลักดันอาเซียนให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หรือ accessible tourism

โดยมุ่งหวังพัฒนาสินค้าและบริการทางด้านการท่องเที่ยวให้เข้าถึงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือคนพิการ ก็สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเองภายในปี 2568 ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน พ.ศ. 2559-2568 หรือ ASEAN Tourism Strategic Plan 2016-2025

นอกจากนั้นยังจะโปรโมตให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต่อต้านผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่ไม่มีการควบคุม อาทิ โฮมแชริ่ง หรือทัวร์ศูนย์เหรียญ พร้อมทั้งติดตามและผลักดันให้เข้าสู่การควบคุมตามกฎหมาย รวมถึงจะให้ความสำคัญกับ “ASEAN Visa” เพื่อนำอาเซียนไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้ของอาเซียน” เพื่อ”การท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้” ในการสร้างความตระหนัก และยกระดับมาตรฐานในการดูแลนักท่องเที่ยวพิการ หรือมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอาเซียนอื่น ๆ และนำไปสู่การสนับสนุนและตอบสนองต่อโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนด้วย