วินเซอร์ฯปรับใหญ่รอบ 50 ปี ดึงเชนสวมแบรนด์ “แกรนด์ เมอร์เคียว”

สัมภาษณ์

กว่า 50 ปีที่ “วินเซอร์ สวีทส์” โรงแรมระดับ 4 ดาว ขนาด 456 ห้องพัก ที่ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ เปิดให้บริการและบริหารงานในรูปแบบธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น กระทั่งเข้าสู่รุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน

ล่าสุด “วินเซอร์ สวีทส์” ตัดสินใจลงนามกับเครือแอคคอร์ เพื่อให้ “แอคคอร์” เข้าบริหารโรงแรมแห่งนี้ พร้อมทั้งมีแผนแบรนด์ใหม่เป็นโรงแรม “แกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินเซอร์” ภายในปี 2564

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ดร.วิภาภรณ์ โบว์เสรีวงศ์” และ “บัณฑิต โบว์เสรีวงศ์” รองประธานกรรมการ บริษัท วินเซอร์ โฮเต็ล จำกัด และทายาทของผู้ก่อตั้งโรงแรมแห่งนี้ ถึงแนวคิดในการดึงเชนอินเตอร์เข้ามาบริหาร รวมถึงทิศทางธุรกิจในอนาคตไว้ดังนี้

“ดร.วิภาภรณ์” บอกว่า เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเชนอินเตอร์เข้ามาบริหารหลังจากที่บริหารกันเองมายาวนานกว่า 50 ปีนั้น เนื่องจากโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ มีโรงแรมเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา บวกกับที่กรุงเทพฯยังคงเป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

การยกระดับภาพลักษณ์และแบรนด์ของโรงแรมจาก 4 ดาวให้เป็น 5 ดาว ถือเป็นการจะสร้างให้โรงแรมมีศักยภาพในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องการให้บริการ การสร้างประสบการณ์ที่ดี รวมถึงความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าที่เข้ามาพัก

โดยการคัดเลือกเชนอินเตอร์ที่เข้ามาบริหารก็ต้องสอดรับกับทิศทางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตด้วย ซึ่งครั้งนี้เชนที่ทางกลุ่มวินเซอร์ฯเลือกมาคือ แอคคอร์ ซึ่งเป็นเชนที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

ขณะที่ “บัณฑิต” ย้ำว่า แม้ว่าวินเซอร์ฯจะเอาเชนอินเตอร์เข้ามาบริหารงานให้ แต่ในแง่ของความเป็นเจ้าของนั้นทางครอบครัวก็ยังถือหุ้นอยู่ 100% เต็มเหมือนเดิม

“ที่ผ่านมาเราเติบโตด้วยศักยภาพของตัวเอง มาได้ขนาดนี้เราก็ดีใจ แต่เราก็มองว่าธุรกิจเราน่าจะไปได้ไกลกว่านี้อีก เลยคิดว่าถ้ามีพาร์ตเนอร์ที่ดี เราก็จะสามารถที่จะก้าวกระโดดได้ จากเดิมที่เราก้าวทีละก้าว”

ส่วนสาเหตุที่เลือกแบรนด์ “แกรนด์ เมอร์เคียว” นั้นเป็นเพราะว่าตลาดหลักของวินเซอร์ฯในปัจจุบันเป็นตลาดเอเชีย และก็มองว่าในอนาคตตลาดภูมิภาคเอเชียยังเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาแรงและมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่แบรนด์ “แกรนด์ เมอร์เคียว” เป็นแบรนด์ที่เกิดในเอเชียและมุ่งเน้นเจาะตลาดเอเชียเป็นหลัก

“ดร.วิภาภรณ์” ยังบอกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการขยับตัวครั้งสำคัญ และเป็นการลงทุนเพื่อปรับโฉมโรงแรมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปีของกลุ่มวินเซอร์ฯเลยทีเดียว โดยหลังจากนี้ บริษัทจะเริ่มทยอยรีโนเวตขนานใหญ่ ทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง ร้านอาหาร และห้องพัก เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

โดยจะแบ่งการดำเนินการออกเป็นช่วง ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสองปีต่อจากนี้ ภายใต้งบฯการลงทุนรวมประมาณ 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะทยอยปรับใหญ่เป็น 2 เฟส ปิดให้บริการรอบละ 5 ชั้น กระทั่งครบทั้งหมด 456 ห้องพัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเปิดให้บริการในช่วง 2 ปีนี้ รวมทั้งห้องประชุมที่มีเกือบ 20 ห้อง ล็อบบี้ พื้นที่ส่วนกลาง และรูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกทั้งหมดตามคอนเซ็ปต์ของแกรนด์ เมอร์เคียว

“หลังจากเราปรับโฉมครั้งใหญ่แล้วเสร็จ โรงแรมแห่งนี้จะมีความชัดเจนที่จะที่เป็น “เลเชอร์โฮเทล” เป็น “คอร์ปอเรตโฮเทล” โดยคาดหวังว่าสัดส่วนลูกค้าเราจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มีราว 40-50% และกลุ่มคอร์ปอเรตประมาณ 25% เปลี่ยนเป็นมีลูกค้าในกลุ่มคอร์ปอเรตเพิ่มขึ้นถึงราว 45-50% ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลถึงโครงสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย”

โดยเชื่อมั่นว่า หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป(ปีที่ 1-2 เป็นช่วงการรีโนเวต) โรงแรมแห่งนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้ปัจจุบันที่เฉลี่ยราว 400 ล้านบาทต่อปีได้อีกราว 25-30%

อีกทั้งเชื่อมั่น “แกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินเซอร์” จะมีศักยภาพในการแข่งขัน เติบโต และก้าวเดินไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น