ธุรกิจสายการบินเดือด ! ทั้งฟูลเซอร์วิส-โลว์คอสต์ถล่มสงครามราคา “ไทยไลอ้อนแอร์” เผยปัจจัยลบยังรุมเร้า ตลาดจีนไม่ฟื้น เงินบาทยังแข็งค่า เตรียมเปิดเส้นทางสู่มะนิลา-เสียมเรียบ หวังดูดนักท่องเที่ยวอาเซียน แก้เกมตลาดญี่ปุ่นแข่งหนัก ขณะที่เส้นทางบินในประเทศ-อินเดียยังติดล็อกสลอตการบินเต็ม คาดปี’62 อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 75% มีผู้โดยสารแตะ 12 ล้านคน
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ร่วมกันเปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจสายการบินในครึ่งปีแรกที่ผ่านมายังอยู่ในภาวะชะลอตัว และมีการแข่งขันทางด้านราคาดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในกลุ่มโลว์คอสต์แอร์ไลน์ด้วยกันเอง และจากสายการบินฟูลเซอร์วิสที่ขยับราคาลงมาแข่งขันอย่างหนัก
ฟูลเซอร์วิสดัมพ์ราคาบี้
โดยเฉพาะเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นที่ช่องว่างระหว่างราคาของสายการบินฟูลเซอร์วิสกับสายการบินต้นทุนต่ำที่เคยอยู่ประมาณ 5,000 บาท ขณะนี้เหลืออยู่เพียงแค่ประมาณ 1,000-2,000 บาทเท่านั้น นอกจากนั้น ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันระหว่างสายการบินภายนอกประเทศที่ส่งผลให้เกิดแรงกดดันจากการแข่งขันทั้งสองด้านอีกด้วย
“ราคาเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดใจลูกค้าก็จริง แต่เราไม่อยากสร้างความคาดหวังให้กับผู้โดยสารด้วยราคาที่ไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้กับสายการบิน เราจึงพยายามเลือกราคาที่มีความสมดุลระหว่างจุดยอมรับได้ของลูกค้ากับจุดที่ก่อให้เกิดรายได้กับสายการบินด้วย”
ไทยไลอ้อนแอร์ครองแชร์ No.2
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแข่งขันจะสูงมาก แต่สำหรับไทยไลอ้อนแอร์นั้นพบว่า สถานการณ์ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 81% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 1-2% ซึ่งถือว่าไม่มากนักในภาวะปัจจัยลบรุมเร้า
นายอัศวินกล่าวว่า สำหรับตลาดสายการบินต้นทุนต่ำของไทยนั้น ปัจจุบันสายการบินไทยแอร์เอเชียครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ส่วนสายการบินไทยไลอ้อนแอร์มีสัดส่วนคงที่อยู่ที่ 33% เช่นเดียวกับปีก่อน โดยขยับขึ้นลงระหว่างอันดับ 2 และ 3 สลับกับสายการบินนกแอร์ ขณะที่สายการบินไทยเวียตเจ็ทก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำมากขึ้นเช่นกัน
ลุ้นตลาดจีนพลิกฟื้นตรุษจีนปีหน้า
สำหรับเส้นทางบินสู่จีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทยไลอ้อนแอร์นั้น นายอัศวินกล่าวว่า สายการบินที่มีเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางกว่า 37 แห่ง ใน 24 เส้นทางบิน ปัจจุบันยังไม่กลับมาเป็นปกติเต็มร้อย ทำให้ครึ่งปีแรกอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยในเส้นทางบินสู่จีนของไทยไลอ้อนแอร์อยู่ที่ 78-79% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 82-83%
“เส้นทางจีนนอกจากจะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารที่สูงแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่มีสัดส่วนผู้โดยสารกว่า 30% ของเส้นทางทั้งหมด และทำรายได้กว่า 60% ของเรา และเชื่อว่าจากนี้ไปสถานการณ์จีนจะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ และกลับเป็นปกติได้ทันช่วงตรุษจีนของปี 2563”
เส้นทางญี่ปุ่นแข่งเดือด
นายอัศวินยังกล่าวด้วยว่า สำหรับเส้นทางสู่ญี่ปุ่นที่สายการบินให้บริการสู่ 4 จุดหมายปลายทาง ได้แก่ นาริตะ (โตเกียว), โอซากา, นาโกยา และฟูกูโอกะนั้น เป็นเส้นทางที่มีการแข่งขันสูงมาก ดีมานด์และซัพพลายไม่สอดรับกัน ทำให้สายการบินบางแห่งยกเลิกเที่ยวบินเพราะแข่งขันไม่ไหว
“เส้นทางญี่ปุ่นของเรามีผู้โดยสารจากไทยและญี่ปุ่นในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยเที่ยวบินที่เติบโตดีที่สุดคือเที่ยวบินสู่นาริตะที่มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยสูงสุด 90% ในขณะที่อีก 3 แห่ง มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 65% ก่อนจะลดลงตามฤดูกาลโลว์ซีซั่นในไตรมาส 3 นี้” นายอัศวินกล่าว
จ่อบิน “มะนิลา-เสียมเรียบ”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ตลาดจีนประสบปัญหาก็ยังมีหลายตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นหรือทรงตัว อาทิ ตลาดยุโรป ตลาดระยะใกล้ในเอเชีย เช่น ไต้หวันที่มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารกว่า 75% หรือตลาดอาเซียนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สายการบินจึงตัดสินใจเปิดเส้นทางใหม่ในไตรมาส 4 ของปีนี้อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางจากกรุงเทพฯ-กรุงมะนิลา (ฟิลิปปินส์) และกรุงเทพ-เสียมเรียบ (กัมพูชา)
นอกจากนั้น ยังมีตลาดเอเชียใต้ที่เติบโตดี โดยเฉพาะเส้นทางสู่อินเดียที่มีการเติบโตดี โดยไทยไลอ้อนแอร์มีเส้นทางบินประจำวันสู่เมืองบอมเบย์ในอินเดีย 1 เส้นทาง และมีความสนใจที่จะเปิดเส้นทางบินอื่น ๆ เช่นกัน หาสลอตการบินในประเทศ
ส่วนตลาดภายในประเทศนั้น นายอัศวินกล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าเส้นทางบินสู่ภูมิภาคอีสานจำนวน 3 เมืองหลัก คือ อุดรธานี, อุบลราชธานี และขอนแก่น มีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่นตลอดทั้งปี สายการบินจึงมีแผนจะเพิ่มเที่ยวบินภายในประเทศต่อเนื่อง แต่ยังติดปัญหาเรื่องการหาสลอตการบินของสนามบินดอนเมืองที่เต็มหมดแล้ว
“ตอนนี้เราก็มีแผนขยับขยายฐานการบินไปที่อู่ตะเภา เนื่องจากตลาดจีนก็มีความพร้อมในการเพิ่มเที่ยวบินสู่อู่ตะเภา เพียงแต่สิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการเดินทางของสนามบินในการเข้าสู่พื้นที่เมืองและพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่พร้อมนัก จึงต้องรอดูโอกาสหลังการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงอีกครั้ง”
คาดปีหน้ามีฝูงบินแตะ 36 ลำ
นายอัศวินกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้สายการบินมีฝูงบินรวมทั้งหมด 33 ลำ แบ่งเป็นรุ่นโบอิ้ง 737-900 อีอาร์ ขนาด 215 ที่นั่ง จำนวน 19 ลำ รุ่นโบอิ้ง 737-800 ขนาด 189 ที่นั่ง จำนวน 11 ลำ และแอร์บัส เอ 330-300 ขนาด 392 ลำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้จะรับเครื่องบินแอร์บัส เอ 330 นีโอ เพิ่มอีก 1-2 ลำ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มในปีหน้าอีก 2 ลำ จึงคาดว่าจบปี 2563 สายการบินจะมีฝูงบินทั้งสิ้น 36 ลำ
ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ที่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยนั้น สายการบินได้ถอนออกไปจากฝูงบินและหยุดทำการบินจำนวน 3 ลำตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และปัจจุบันยังคงจอดอยู่และไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการบิน ทำให้สายการบินต้องเสียค่าจอดและค่าอื่น ๆ จำนวนมากตามมา
คาดปี’62 ผู้โดยสาร 12 ล้านคน
สำหรับเป้าหมายของปี 2562 นี้ นายอัศวินกล่าวว่า แม้จะยังเผชิญกับปัญหาของเครื่องรุ่น 737 แม็กซ์ และปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ยังเชื่อว่าสายการบินจะสามารถรักษาอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยไว้ที่ 75% และมีจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 12 ล้านคน และเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนลักษณะการให้บริการจากการให้ฟรีน้ำหนักกระเป๋ามาเป็นการแบ่งขายน้ำหนักกระเป๋าตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไปจะทำให้รายได้มากขึ้นได้ในระดับหนึ่งด้วย
จากนั้นสายการบินก็จะเร่งขยายธุรกิจต่อเนื่องในปีหน้า โดยเน้นทำการบินด้วยเครื่องขนาดใหญ่เป็นหลัก พร้อมทั้งรักษาเที่ยวบินเพื่อรักษารายได้เอาไว้ให้ได้ ซึ่งหากปัจจัยต่าง ๆ เป็นใจ สายการบินอาจสร้างกำไรได้ตามนโยบายหลักที่บริษัทแม่ได้ให้เอาไว้ปี 2563 นี้ด้วย