“ทีเส็บ” ปั้นกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ดันรายได้ไมซ์ในประเทศ 1.21 แสนล้านบาท

จากรายงานของสมาคมการประชุมนานาชาติระดับโลก ปี 2561 (International Congress and Convention Association – ICCA) ระบุว่า อุตสาหกรรมไมซ์ไทย อยู่ในอันดับ 4 ของเอเชียด้านการประชุมนานาชาติ ด้วยจำนวน 193 งาน รองจากญี่ปุ่น, จีน และเกาหลีใต้ ยกระดับขึ้นจากปี 2560 ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย

แต่ยังถือเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีจำนวนงานประชุมนานาชาติ 171 งาน

ทั้งนี้ ICCA ยังระบุด้วยว่า ในด้านการประชุมนานาชาติระดับเมือง กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 2 (135 งาน) เชียงใหม่ อันดับ 25 (25 งาน) และพัทยา อันดับ 60 (11 งาน)

โดยพบว่า การจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ในประเทศไทยมีการเติบโตสูงสุดทั้งจำนวนคนและรายได้ คิดเป็นการเติบโตด้านจำนวนคน 18% และรายได้ 180% โดยเมืองไมซ์ 5 อันดับแรกที่มีนักเดินทางไมซ์เข้ามามากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และพัทยา

ประกอบกับผลการวิจัยของ บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ในปี 2561 ผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอุตสาหกรรมไมซ์นอกจากการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงาน ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดกิจกรรมไมซ์ทั้งสิ้น (Total Expenditure) เป็นมูลค่าถึง 251,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 230,000 ล้านบาทในปี 2560

และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 316,000-405,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจของกิจกรรมในอุตสาหกรรมไมซ์มีมูลค่า 177,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (GDP Contribution) ก่อให้เกิดการจ้างงาน 181,000 ตำแหน่ง และสามารถจัดเก็บภาษีให้กับประเทศไทยได้กว่า 23,400 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จึงกำหนดแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้ 3 เป้าหมายยุทธศาสตร์หลักคือ “สร้างรายได้ – กระจายรายได้สู่ภูมิภาค – พัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรม” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการกระตุ้นนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2562 รวมทั้งสิ้น 35,982,000 คน สร้างรายได้ 221,500 ล้านบาท

โดยกำหนดเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน สร้างรายได้ 100,500 ล้านบาท และนักเดินทางชาวไทยที่เดินทางเข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท

@ “สัมมนารอบกรุง” เครื่องมือใหม่ ส่งเสริมการประชุมในประเทศ

นายสราญโรจน์ สวัสดิ์ชูโต ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ (Domestic MICE) “ทีเส็บ” กล่าวว่า “ทีเส็บ” กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์โดยมุ่งเน้นด้านมิติการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มและยกระดับสถานที่จัดงาน รวมถึงกิจกรรมใหม่เพื่อรองรับการจัดงานไมซ์ โดยร่วมกับ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) จัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” โครงการสร้างการรับรู้สินค้าและบริการไมซ์ (Domestic Fam Trip) ประจำปี 2562 พร้อมมอบหมายออร์แกไนเซอร์ชั้นนำ “PAULA&CO.” นำคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) จากองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองรูปแบบใหม่ในเส้นทางเช้าไป-เย็นกลับ (OneDayTrip) ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยรอบกรุงเทพฯ

การจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” มีทั้งสิ้นรวม 3 ครั้งคือ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 จ.สมุทรปราการ เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2562 และ จ.นครปฐม เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแนะนำเส้นทางใหม่ให้องค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการจัดกิจกรรมด้าน การประชุม (Meeting) ได้มีโอกาสสัมผัสบริการด้านอุตสาหกรรมไมซ์ในรูปแบบใหม่ ทั้งสถานที่จัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังการประชุมเพื่อรองรับกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มการรับรู้ในเส้นทางเหล่านี้มากขึ้นทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการจัดกิจกรรมไมซ์ที่หลากหลายระดับคุณภาพ

@ เรียนรู้ “Agile and Scrum” ที่สวนสามพราน

กิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งสุดท้าย ณ จ.นครปฐม จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สร้างคนและองค์กรผ่าน Agile and Scrum ในชุมชน” โดยนำผู้ร่วมสัมมนารวม 35 ราย ไปยังจุดหมายแรกคือ “สวนสามพราน” สถานที่สร้างงาน – สร้างชีวิตให้ผู้คนในชุมชน พร้อมนั่งเรือข้ามฝั่งแม่น้ำท่าจีน ไปรับฟังบรรยายเรื่อง “สามพรานโมเดล” โดย นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการโรงแรมสวนสามพราน และมูลนิธิสังคมสุขใจ ก่อนที่จะนำผู้ร่วมสัมมนาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ ณ ปฐมออร์แกนิกฟาร์ม เพื่อศึกษาวิถีชีวิตเกษตรกรไทยและเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แบบพึ่งพาตนเอง

จากนั้นยังร่วมกิจกรรม “Agile Cooking Workshop” การปรับปรุงการทำงานรูปแบบใหม่ที่นำผู้ร่วมสัมมนาก้าวสู่ยุค Digital Tranformation ด้วยการทำอาหาร ! โดยมี อาจารย์ดามพ์ มงคล หงษ์ชัย ผู้ก่อตั้ง “Agile Picnic Meetup” และ “Agile Passion Conference” ทั้งในประเทศไทยและเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เป็นโค้ชผู้ชี้แนะให้ความรู้แก่ผู้ร่วมสัมมนาด้วยวิธีง่าย ๆ ที่มากไปด้วยสาระและบันเทิง

โดยเริ่มจากจัดกลุ่มผู้สัมมนาเป็น 4 ทีมคือ สีเหลือง, แดง, เขียว และน้ำเงิน เพื่อให้แต่ละทีมทำอาหารที่ต้องการโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่อันน้อยนิดภายในเวลา 10 นาที (รวมถึงจุดไฟจากเตาถ่าน) โดยมี อาจารย์ดามพ์ ทำหน้าที่เป็นลูกค้าลองลิ้มชิมรส ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ออกมาล้วนไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ทั้งรสชาติและรูปลักษณ์ แต่เมื่อ อาจารย์ดามพ์ แนะนำให้ความรู้เรื่อง “Agile and Scrum” พร้อมเปิดโอกาสให้แต่ละทีมลองทำอาหารอีกครั้ง

โดยให้แต่ละทีมสรรหาลูกค้าต่างทีมคือ สีเหลืองได้ลูกค้าสีแดง สีแดงได้ลูกค้าสีเขียว สีเขียวได้ลูกค้าสีน้ำเงิน สีน้ำเงินได้ลูกค้าสีเหลือง พร้อมให้เวลา 10 นาทีเท่าเดิม แต่แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงละ 5 นาที เพื่อให้แต่ละทีมมีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น พร้อมทดสอบความต้องการของลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงรสชาติอาหารและผลิตภัณฑ์

ไม่น่าเชื่อว่า ผลลัพธ์ที่ได้ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในเวลาที่เท่ากัน !

นั่นเป็นเพราะ การ “Agile and Scrum” ทำให้ทุกคนในทีมมีปฏิสัมพันธ์ (Relation) ที่ดีระหว่างกัน รวมถึงการสื่อสาร (Communication) กับลูกค้า อันนำมาซึ่งการปรับปรุงพัฒนาการทำงานทุก ๆ ด้าน เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า

จึงเป็นเรื่องแปลกใจอย่างสิ้นเชิงที่อาหารแต่ละจานล้วนถูกรังสรรค์ออกมาได้อย่างวิจิตร ทั้งรสชาติและรูปแบบการจัดจาน ทั้ง “กล้วยบวดชี” จากทีมสีเหลือง “ผัดผักสี่สหาย” จากทีมสีแดง “สุกี้แห้ง” จากทีมสีเขียว และ “ยำไข่ดาว” จากทีมสีน้ำเงิน

@ แนวคิด “Agile and Scrum”

อาจารย์ดามพ์ มงคล หงษ์ชัย อธิบายถึงแนวคิด “Agile and Scrum” ว่าเป็นประยุกต์การทำงานในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อแทนที่การวางแผนกำหนดเป้าหมายและมุ่งไปในครั้งเดียว โดยเปลี่ยนเป็นวางแผนและทำงานไปทีละนิด ๆ และคอยประเมินว่าควรดำเนินการต่อไปไหม พร้อมกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและค่อย ๆ ดำเนินงานไป เพราะเมื่อพบกับปัญหาจะสามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น หรือเมื่อได้รับความต้องการจากลูกค้า (Requirment) ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็จะสามารถรับมือและแก้ไขได้ทันที โดยไม่เน้นกระบวนการและเอกสาร แต่จะเน้นการพัฒนาสินค้าให้ดีที่สุดมากกว่าจะยึดติดกับเอกสารต่าง ๆ พร้อมกับต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะความต้องการของลูกค้าอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเช่นกัน

แนวคิดการทำงานแบบ Agile จึงเป็นในลักษณะทำทีละนิดแต่ทำบ่อย ๆ คือมีการส่งมอบงานอะไรบางอย่างให้ทีม หรือลูกค้าอย่างต่อเนื่องทีละเล็กทีละน้อย เช่น ส่งมอบอะไรใหม่ทุก ๆ 2 สัปดาห์ หรือทุก ๆ เดือน โดยไม่ให้ลูกค้าต้องรอนาน 3-6 เดือน

การทำงานแบบ Agile จึงเน้นการทำงานเป็นทีมมากกว่าที่จะสนใจกระบวนการ โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าที่บอกว่าต้องเป็นไปตามกระบวนการ โดยอาจให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มกระบวนการด้วย ทำให้การทำงานในแนวคิด Agile ไม่มีกำแพงกั้นระหว่างบุคลากรแต่ละฝ่าย เพราะเป็นการนำบุคลากรทุกฝ่ายมาอยู่ในทีมเดียวกัน เน้นการสื่อสารระหว่างบุคคล ทำให้ลดความไม่เข้าใจระหว่างกัน จึงทำให้เกิดกรอบการทำงาน (Framework) ในลักษณะ “Scrum” คือทุกคนในทีมช่วยกันรุมทำงานนั่นเอง !

ผู้ร่วมสัมมนายังมีโอกาสร่วมกิจกรรม “Table Top Sale” ในการพบปะกับผู้ประกอบการด้านที่พักและบริการต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมาร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมแนะนำสถานที่สำหรับการจัดประชุมอบรมสัมมนาให้แก่ผู้ร่วมสัมมนา ณ ห้องเจด โรงแรมสวนสามพราน

@ ชมวิถีชุมชนชาวบ้านดั้งเดิมใกล้เมืองกรุง

กิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งนี้ยังนำผู้ร่วมสัมมนาเดินทางไปยัง ชุมชนบ้านศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เริ่มจากการนั่งรถอีแต๊กชมสวนผลไม้อินทรีย์ พร้อมร่วมทำขนมข้าวตู ณ “สวนผลไม้ลุงบุญเลิศ” ก่อนที่จะล่องเรือไปตามคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อไปชม “นาบัวลุงแจ่ม” พร้อมร่วมกิจกรรมจีบ (พับ) ดอกบัว และพายเรือชมดอกบัว ก่อนที่จะกลับมายัง “บ้านข้าวตังศาลาดิน” เพื่อรับฟังการทำข้าวตังโดยปราชญ์ชาวบ้านในเรื่องการแปรรูปข้าว

ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชม หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ประจำปี 2552 บ้านศาลาดิน หมู่ที่ 3 ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งนอกจากจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในชุมชนแล้ว ยังมีการสาธิตให้บริการสปาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสปาเกลือเท้า สปาน้ำเท้า สปาสมุนไพรโอ่ง และอื่น ๆ

ก่อนที่จะนำผู้ร่วมกิจกรรมไปเยี่ยมชม “วู้ดแลนด์เมืองไม้” (WOOD LAND) ของ นายณรงค์ ทิวไผ่งาม ณ ต.ดอนแฝก อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งสะสมงานไม้แกะสลักที่วิจิตรและพิสดารมากกว่า 1 พันชิ้นเป็นระยะยาวนานมากกว่า 30 ปี ปิดท้ายด้วยกิจกรรม “Scrumban” โดย อาจารย์ดามพ์ มงคล หงษ์ชัย ก่อนจะนำผู้ร่วมสัมมนาเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ถือเป็นการสัมมนาที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้รับทั้งความเพลิดเพลิน และสาระอย่างคุ้มค่าทีเดียว