“แอร์บัส”อุดเส้นทางบินระยะใกล้ ส่งA220เครื่องเล็ก-ประหยัดปูพรมทั่วโลก

“แอร์บัส” เร่งอุดช่องว่างตลาดการบินระยะใกล้ ดันเครื่องบินตระกูล A220 เครื่องเล็ก-ประหยัดน้ำมัน ปูพรมตลาดทั่วโลก ตั้งเป้ากวาดยอดขาย 7,000 ลำ ใน 20 ปี เผยมียอดสั่งซื้อแล้วกว่า 550 ลำ จาก 21 สายการบิน พร้อมเดินหน้าโรดโชว์เครื่องใหม่ทั่วเอเชีย-แปซิฟิก หวังเร่งเป้ายอดขายตามแผนระยะยาว ส่วนในไทยอยู่ระหว่างการซุ่มเจรจา 

นางคริสตีน เดอ ดาเย่ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กลุ่มบริษัทแอร์บัส ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องบินแอร์บัส เปิดเผยว่า ขณะนี้แอร์บัสได้นำเครื่อง A220-300 เดินทางเพื่อบินสาธิตใน 6 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อแสดงศักยภาพของเครื่องรุ่นดังกล่าว ประกอบกับการตัดสินใจของผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังการเปิดตัวเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A220อันประกอบไปด้วย A220-100 และ A220-300 เมื่อปีที่ผ่านมา

ตั้งเป้าขาย 20 ปี 7 พันลำ

โดยมีเป้าหมายขายเครื่องบินลำตัวแคบ ขนาด 100-150 ที่นั่ง ซึ่งหมายรวมถึงเครื่องในรุ่น A220 ทั้งหมด 7,000 ลำ ภายในระยะเวลา 20 ปี โดยตั้งเป้าขายในเอเชีย-แปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนเป้าหมายทั้งหมด และเชื่อว่าเครื่องบิน ขนาด 100-150 ที่นั่ง จะกลายเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นทั่วโลก ในขณะที่ตลาดยังขาดเครื่องบินขนาดดังกล่าวอยู่อีกมาก

“เครื่องบินเดินทางเดี่ยวของแอร์บัส ประกอบด้วย เครื่องกลุ่ม A220 และ A320 ที่ได้รับความนิยมเป็นประวัติการณ์ แต่ในบางเส้นทางบินที่พึ่งเปิดให้บริการหรือมีดีมานด์ไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี สายการบินอาจต้องการเครื่องที่เล็กกว่าอย่าง A220 เพื่อไปปิดช่องว่างของตลาด และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เต็มลำ พร้อมรักษาสมดุลรายได้และรายจ่ายเอาไว้ได้”

ชูประหยัดน้ำมัน-ลดต้นทุน

นางคริสตีนกล่าวว่า เครื่อง A220 ถูกออกแบบมาให้กับตลาด 100-150 ที่นั่งโดยเฉพาะ ซึ่งเครื่อง A220-100 รองรับผู้โดยสารได้ถึง 116 คน พร้อมทำพิสัยได้สูงสุด 3,400 ไมล์ทะเล และเครื่อง A220-300 รองรับผู้โดยสารได้ถึง141 คนหรือมากกว่า พร้อมทำพิสัยบินได้สูงสุด 3,350 ไมล์ทะเล ทำให้สามารถทำระยะจากกรุงเทพฯถึงบางส่วนของออสเตรเลีย อินเดีย หรือดูไบได้ไม่ยาก

และยังเป็นเครื่องที่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมดรุ่นแรกในรอบ 30 ปี พร้อมความโดดเด่นด้านความคุ้มค่า เนื่องจากสามารถลดการใช้น้ำมันได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับเครื่องบินขนาดและพิสัยเดียวกัน พร้อมอะไหล่ร่วมระหว่าง A220-300 และ A220-100 ที่เหมือนกันถึง 99% ทำให้สายการบินประหยัดต้นทุนในการซ่อมบำรุงทางตรงลงได้อีก 25%

และที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่ง คือ เครื่องรุ่นนี้มีระบบแอโรไดนามิกใหม่ ซึ่งทำให้คาดว่าจะสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงต่อที่นั่งลงได้ 20% โดยเชื่อว่าจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของเครื่องรุ่นใหม่นี้จะทำให้สายการบินประหยัดต้นทุนต่อที่นั่งลงได้ประมาณ 13% เมื่อเทียบกับคู่แข่งรุ่นที่ใกล้เคียงกันที่สุด โดยเครื่องที่ส่งมอบไปแล้วสามารถทำชั่วโมงบินต่อเนื่องได้ 7-8 ชั่วโมง พร้อมสามารถทำเวลาบินต่อวันได้มากกว่า 18 ชั่วโมงต่อวัน และทำเที่ยวบินได้สูงสุด 13 เที่ยวบินต่อวัน

นอกจากนั้น ห้องโดยสารของ A220-300 ได้รับการออกแบบให้รู้สึกโปร่งโล่งและกว้างมากยิ่งขึ้น มีเบาะที่กว้างมากถึง18 นิ้ว มีหน้าต่างที่ใหญ่ขึ้นรับแสงจากธรรมชาติได้มากขึ้น รวมถึงมีช่องเก็บสัมภาระขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถใช้กระเป๋าล้อลากได้ในการเดินทาง และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20% จากเครื่องรุ่นอื่น ๆ ในพิสัยเดียวกัน

สั่งซื้อแล้ว 21 สายการบิน

ทั้งนี้ ปัจจุบันแอร์บัสมีคำสั่งซื้อเครื่องรุ่นนี้แล้ว 551 คำสั่งซื้อ จาก 21 สายการบินทั่วโลก โดยมีเครื่องบินที่ส่งมอบแล้ว 78 ลำ และอยู่ระหว่างการผลิตและส่งมอบอีก 473 ลำ โดยมีลูกค้าในเอเชีย-แปซิฟิก 2 สายการบิน ได้แก่ สายการบินโคเรียนแอร์ 10 ลำ และสายการบินแอร์วานูอาตู 4 ลำ และกำลังจะมีเพิ่มอีก 1 สายการบินในเร็ว ๆ นี้

“สำหรับประเทศไทยเราได้มีการพูดคุยกับสายการบินแล้วบางแห่ง แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียด”

นางคริสตีนยังกล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยมีความโดดเด่นจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงได้รับการประเมินสภาวะเศรษฐกิจในแง่บวกจากหลายสถาบัน แอร์บัสจึงเชื่อว่าไทยจะเป็นเหมือนอีกหลายประเทศที่มีจำนวนผู้ที่มีศักยภาพในการบินออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกปี