“แอร์ไลน์-โรงแรม” แข่งเดือด ทุบ “รายได้-กำไร” Q2 ฮวบ

จากรายงานของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า สถานการณ์โดยรวมในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2562) ที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีอัตราการเติบโตยังอยู่ในภาวะทรงตัว โดยมีรายได้รวมที่ 1.55 ล้านล้านบาท (จากเป้ารายได้ทั้งปี 3.3-3.4 ล้านล้านบาท)

โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 19.6 ล้านคน ขยายตัว 0.7% สร้างรายได้รวม 1.01 ล้านล้านบาท ขยายตัว0.3% ขณะที่ตลาดภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย มีการเดินทางภายในประเทศ76 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 0.54 ล้านล้านบาท

ท่องเที่ยว-การบินชะลอทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 นี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9 ล้านคน เติบโตที่ 1.1% โดยนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 19.8% รองลงมาคือ นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่เติบโต 5.6% และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เติบโต 5.2% ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก แอฟริกา และยุโรป มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 3.8%, 2.8% และ 0.8% ตามลำดับ

โดยนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีจำนวนสูงสุดและมีสัดส่วนถึง 28.2% นั้น ปรับตัวลดลงไป 8.2% ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยเติบโตชะลอตัวลงไป เมื่อบวกกับค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นปัญหาทั่วโลก ยิ่งเป็นปัจจัยลบทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน

ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกในไตรมาส 2 ของปี 2562 จากสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ประมาณการขนส่งและปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นประมาณ 4.7% และ 4.1% ตามลำดับ โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 81.9%

สำหรับอุตสาหกรรมการบินของไทยนั้น พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตชะลอตัวเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก ทำให้ความต้องการการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยและชาวไทยเดินทางไปยังต่างประเทศชะลอตัวลงตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ซัพพลายด้านการให้บริการด้านการบินของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และการให้บริการเส้นทางบินก็มีความหลากหลายขึ้น

การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยนั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากตัวเลขผลประกอบการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินและโรงแรมที่มีการเติบโตต่ำลง รวมถึงตัวเลข “ขาดทุน” ที่โชว์ตัวแดงอยู่ในบัญชีอย่างชัดเจน

สายการบินของไทยขาดทุนยับ

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2562 นี้ พบว่า “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของไทย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 42,509 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4,730 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 3,270 ล้านบาท หรือ 7.7% ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 6,878 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 3,792 ล้านบาท หรือ 122.9%

ส่วน “เอเชีย เอวิเอชั่น” ผู้บริหารสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ระบุว่า มีรายได้รวม 10,015.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 10% หรือ 10,804.3 ล้านบาท ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 2 ขาดทุนสุทธิ 482.5 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 58%

ขณะที่ “การบินกรุงเทพ” ผู้บริหารสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” รายงานว่า มีรายได้รวม 6,077.4 ล้านบาท ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ผ่านมา ขาดทุนสุทธิ 698.1 ล้านบาท จากที่ขาดทุน 82 ล้านบาทในปีก่อน หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 616.1 ล้านบาท หรือ 751.3%

เช่นเดียวกับสายการบิน “นกแอร์” ที่รายงานว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ มีรายได้รวม 4,805.91 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 796.41 ล้านบาท

อัตราเข้าพัก-รายได้ห้องพักวูบ

สำหรับในกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมนั้น พบว่า ส่วนใหญ่มีรายได้จากการประกอบการธุรกิจโรงแรมลดลง เนื่องจากมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลง และรายได้ห้องพักเฉลี่ยที่ลดลงเช่นกัน

โดย บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ผลประกอบการไตรมาส 2 มีรายได้รวม 1,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากธุรกิจโรงแรม 813 ล้านบาท ลดลง 142 ล้านบาท หรือ 14.9% ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 22 ล้านบาท ลดลง 23 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน

ทั้งนี้ เป็นผลจากการปิดให้บริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ การลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น โรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพฯ, บริษัท ดุสิต ฮอสปิตัลลิตี้ เซอร์วิสเซส รวมถึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าบริษัท โรงแรมพลาซ่า หรือ “เซ็นเทล” ระบุว่า มีรายได้จากธุรกิจโรงแรม 2,000.7 ล้านบาท ลดลง 138.7 ล้านบาท หรือ 6.5% ส่งผลให้รายได้รวมในส่วนธุรกิจโรงแรมช่วง 6 เดือนแรก เท่ากับ 4,756.4 ล้านบาท ลดลง 331.9 ล้านบาท หรือประมาณ 6.5%

โดยสาเหตุหลักมาจากการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลงจาก 79.5% เหลือ 72.9% เช่นเดียวกับรายได้ห้องพักเฉลี่ยที่ลดลงประมาณ 6.4%

ในส่วนของ “ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” มีรายได้รวมในไตรมาส 2 รวม 1,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3% ขาดทุนสุทธิ 7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 30 ล้านบาท ทั้งนี้ พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรก มีรายได้รวม 3,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% มีกำไรสุทธิ 227 ล้านบาท ลดลง 28%

โดยธุรกิจโรงแรม (ไม่รวมกลุ่มฮ็อป อินน์) ในไตรมาส 2/62 มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักลดลง 6% ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของอัตราการเข้าพักและค่าห้องพักเฉลี่ย ซึ่งลดลงเฉลี่ย 3% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในไตรมาส 2 และที่ชัดเจนคือ โรงแรมในต่างจังหวัดมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องลดลงมากกว่ากลุ่มโรงแรมในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่สมุยและภูเก็ต ซึ่งเป็นผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลัก