ฟรี VOA (ไม่) ตอบโจทย์ ชง “ฟรีวีซ่ากรุ๊ป” สร้างความเข้มแข็งเอกชน

ทุกครั้งที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต “ความเชื่อมั่น” และส่งผลกระทบถึงภาคของธุรกิจท่องเที่ยว เครื่องมือทางการตลาดที่คลาสสิกที่สุดในการนำมาช่วยขับเคลื่อนและกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทุกครั้งที่ผ่านมาคือ มาตรการฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือฟรี visa on arrival : VOA

โดยปกติแล้วมาตรการดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือนเท่านั้น

แต่วิกฤตท่องเที่ยวไทยขณะนี้ดูเหมือนว่าจะลากยาวกว่าปกติที่เคยเป็นมา ทำให้ล่าสุดภาครัฐมีความจำเป็นต้องต่อมาตรการ “ฟรี VOA” ออกไปอีกจนถึง 30 เมษายน 2563

“เครื่องยนต์” ขับเคลื่อน ศก.

สำหรับวิกฤตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยรอบนี้ เริ่มต้นจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มกลางทะเลของจังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนชะลอการเดินทางไปอย่างชัดเจน รัฐบาลจึงนำมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือฟรี VOA มาใช้ตามคำเรียกร้องของผู้ประกอบการภาคเอกชน

ที่สำคัญภาครัฐเองก็คาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวนี้จะช่วยขับเคลื่อนจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

โดยมองว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นเป็น “เครื่องยนต์” ตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมและ GDP ของประเทศ จึงจำเป็นต้องรีบกระตุ้นโดยเร่งด่วน

“ฟรี VOA” เยียวยาทุกวิกฤต

ครั้งแรก รัฐประกาศใช้มาตรการฟรี VOA (2,000 บาท) ระหว่าง 15 พฤศจิกายน 2561 ถึง 13 มกราคม 2562

ในครั้งนั้นพบว่า ในช่วงเวลาประมาณ 2 เดือน มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 1.03 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 70.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเมินว่ามาตรการดังกล่าวสามารถเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยวราว 6.42 พันล้านบาท ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (VOA) ประมาณ 2.14 พันล้านบาท

บวกลบแล้วถือว่า “กำไร”

เมื่อผลตอบรับอยู่ในทิศทางบวกรัฐบาลจึงประกาศต่อมาตรการดังกล่าวนี้ออกไปจนถึง 30 เมษายน 2562 โดยเหตุผลคือ เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลสงกรานต์

ตอบโจทย์ไม่ครบทุกมิติ

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งวิเคราะห์ให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า ในที่สุดแล้วมาตรการฟรีค่าธรรมเนียม VOA ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก เพราะวิกฤตท่องเที่ยวรอบนี้มีตัวแปรในเรื่องของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

บวกกับนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป นิยมเดินทางด้วยตัวเองมากขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางแบบ “กรุ๊ปทัวร์” ลดลงชัดเจนจนน่าใจหาย

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงประกาศต่อมาตรการดังกล่าวเพื่อหวังกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นอีก 6 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2562

โดยประเมินว่า รอบนี้รัฐสูญเสียการจัดเก็บรายได้ 2,955 ล้านบาท แต่คาดว่าจะส่งผลให้ประเทศมีรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว 104,616 ล้านบาท

กระทั่งล่าสุด รัฐบาลเพิ่งประกาศต่อมาตรการ “ฟรี VOA” ออกไปอีกจนถึง 30 เมษายน 2563

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองว่ามาตรการดังกล่าวนี้ยังไม่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ครบทุกมิติ ที่สำคัญยังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเพียงบางกลุ่มเท่านั้น พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือรัฐยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เอกชนชง “ฟรีวีซ่ากรุ๊ป”

สอดรับกับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีปัจจัยลบรุมเร้าในหลากหลายมิติมาก โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

มาตรการฟรี VOA จึงไม่ใช่ “ยาแรง” ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยนำมาตรการดังกล่าวนี้มาใช้ 1 ปีเต็ม ๆ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (ตัวเลขกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่าในช่วง 7 เดือนแรกจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยขยายตัวราว 2%)

ที่สำคัญ บรรยากาศท่องเที่ยวของเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต พัทยา หรือเชียงใหม่ ยังคงมีปัญหานักท่องเที่ยวลดลงทั้งสิ้น

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม “กรุ๊ปทัวร์” ที่เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองก็ยังคงลดลงระดับ 10-20% อย่างต่อเนื่อง

ภาครัฐควรมองในมิติของการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการนำเที่ยวที่ทำธุรกิจถูกต้อง โดยใช้มาตรการฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบ “กรุ๊ปทัวร์” เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มเครื่องมือทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าของรัฐ

ที่สำคัญ ยังเป็นการตัดตอนบริษัท “นอมินี” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของวงการท่องเที่ยวของไทยในขณะนี้ได้อีกด้วย