ปชช. กุดจอก จ.ชัยนาท ผุดท่องเที่ยวชุมชน ชูภูมิปัญญา-วัฒนธรรมท้องถิ่น “ชาวลาวครั่ง”

เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดศรีสโมสร ตำบลกุดจอก จังหวัด ชัยนาท มีการแถลงข่าว “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ภาคกลางและตะวันตก” และเสวนาในเรื่อง “การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลกุดจอก”

นายเบญจพล เปรมปรีดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดชัยนาทขับเคลื่อนโดยวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ แต่มีความโชคดีที่วิสัยทัศน์ชุมชนที่นี่ดี ไม่ว่าจะเป็นการถอผ้าเพื่อจำหน่าย มีหลากหลายลายให้เลือก โดยที่ผ้าแต่ละผืนมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เข้าสู่ชุมชนสิ่งแวดล้อมที่ดี เรามีผู้นำชุนชนที่เข้มแข็งและมีสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชนชาวลาวครั่ง สามารถที่จะนำวัฒนธรรมหรือการท่องเที่ยวในอำเภอต่างๆเข้ามาในตำบลกุดจอก

“ในวันนี้จะได้เห็นภาพ ชุมชนที่แสดงถึงวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวลาวครั่ง โดยปัญหาในตอนนี้คือ การทำอย่างไรให้ชุมชนยกระดับขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งเราต้องประเมินตนเองก่อนคือ เราจะต้องนำรายละเอียดของชุมชนมาเช็กดูว่าอยู่ในตำแหน่งไหน แล้วจะพัฒนาไปทางด้านใดเพื่อให้ตำบลกุดจอกมีการพัฒนาที่มั่นคงขึ้นและก้าวไปอีกขั้น” นายเบญจพล

ด้าน ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสัมนาชีพชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวต่อว่า พี่น้องชาวภาคกลาง ภาคตะวันตก ทุกตำบลทั้ง 15 จังหวัด สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสถาบันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ทางเราต้องการความรู้ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว

โดยชุมชนมีคนทำวิจัยไว้แล้ว รวมถึงได้จับมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ สมาคมไทยท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจในเรื่องของการท่องเที่ยว เข้ามารับผิดชอบ ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาและทำงานร่วมกับอนุกรรมการคณะกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

นายคำรณ สุภบุตร ขึ้นกล่าวเสวนาในเรื่อง “การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลกุดจอก” ว่า ชุมชนชาวลาวครั่งหมู่ 1 และหมู่ 6 ได้รวมตัวกันเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ในการรักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเพื่อให้พี่น้องคนรุ่นหลังได้สืบสานต่อไป

“เริ่มแรกเกิดจากผู้ใหญ่บ้านได้ประสานหลายๆ จังหวัดมาเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจึงนำเอาวัฒนธรรมมาเเลกเปลี่ยนกัน ในตำบลกุดจอกนั้นได้สืบสานประเพณีการแต่งกาย อนุรักษ์ผ้าซิ่น เพื่อให้พี่น้องต่างจังหวัดได้เรียนรู้ภูมิปัญญาที่เหลือน้อย เราจัดให้มีการท่องเที่ยวภายในชุมชนเพื่อจะได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆเข้ามาเรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรมของชาวลาวครั่งและอนุรักษ์เอาไว้ให้รุ่นหลานได้ศึกษากันต่อไป” นายคำรณ กล่าว

ดร.จรรยา กลัดล้อม อนุกรรมการภาคกลางและตะวันตก เพิ่มเติมว่า ในสิ่งที่ขบวนองค์กรจังหวัดชัยนาทได้ลงมาขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ต.กุดจอก มีการลงพื้นที่และได้เห็นวิถีชีวิตของชาว ต.กุดจอก ว่ามีประเพณี การแต่งกายและภาษาของชาวลาวครั่ง ซึ่งได้ลงพื้นที่เพื่อจะปรับสภาพที่อยู่ แต่ทางชาวบ้านอยากให้อนุรักษ์ไว้แบบเดิม จึงได้เห็นสภาพถิ่นฐานและความต้องการ

“เมื่อเราลงพื้นที่จึงได้เห็นว่าชาวต.กุดจอก ยังอนุรักษ์บ้านเรือนและสิ่งดีๆความเป็นอยู่ เช่น เรื่องของรั้วบ้านที่นี่มีน้อยมาก บ้านเรือนยังคงสภาพบ้านทรงไทยที่ไม่มีตะปูเลย เขาใช้สลักไม้เหมือนสมัยแต่ก่อน และยังมีการจัดซุ้มที่เราหาดูได้ยาก ทางเราจึงได้ขยายผลส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยยึดหลักวิถีชีวิตโดยชุมชนของ ต.กุดจอกไว้ และมีหน่วยงานของจังหวัดชัยนาท ได้ให้ความสนับสนุนโดยให้ชาวบ้านคิดได้เองว่าอยากที่จะทำสิ่งไหน และทางหน่วยงานก็จะประสานงานเข้าให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน” ดร.จรรยา เผย

ขณะที่นายองอาจ หล่ำอุบล ประธานกรรรมการ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีชัยนาท (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทได้ตั้งขึ้นตามนโยบายในการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนก็จะมีความสุข ประชารัฐก็คือการนำหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้ามารวมกัน จะมีภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการและภาคธุรกิจนำมารวมกัน 5 ส่วน ซึ่งส่วนต่างๆเหล่านี้มาช่วยระดมทุน เปรียบเสมือนการลงหุ้น แต่ไม่มีกำไรปันผลและไม่สามารถถอนหุ้นคืนได้ หากประชารัฐเข้ามาสนับสนุนกลุ่มทอผ้าของ ต.กุดจอก คือเพื่อต่อยอดและสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านชาว ต.กุดจอก จ.ชัยนาท หากชาวบ้านตั้งใจร่วมแรงกายแรงใจที่จะทำอย่างจริงจัง ทางประชารัฐก็ยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่