BA เร่งสปีดตัวเลขครึ่งหลัง โอดโค้งแรกขาดทุนรอบ5ปี

“บางกอกแอร์เวย์ส” โอดพิษเศรษฐกิจโลก บาทแข็งกระหน่ำ ดีมานด์ลด หนุนทุกค่ายแห่เล่นสงครามราคารักษาฐานลูกค้า ทุบผลประกอบการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 5 ปี ประกาศลดเป้า ผู้โดยสารลง 1 แสนคน พร้อมเร่งเปิดช่องทางขายออนไลน์-ขยายเส้นทางยอดนิยม หวังกระตุ้นตัวเลขครึ่งปีหลังพลิกกลับมีกำไร

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ประสบปัญหา นับตั้งแต่สงครามการค้า การเมืองภายในภูมิภาคยุโรป และค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารและอัตราผลตอบแทนของบริษัท ในทุกเส้นทางลดลงประมาณ 4%

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางสมุยที่เป็นเส้นทางทำรายได้หลักกว่า 49% ให้กับสายการบิน มีจำนวนผู้โดยสารลดลงครั้งแรกในรอบหลายปี และจำเป็นที่จะต้องยกเลิกเส้นทางบินสมุย-กว่างโจวซึ่งเดิมบินอยู่ 7 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงปรับลดจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางบินเช่าเหมาลำสมุย-เฉิงตู จาก 4 เป็น 2 วันต่อสัปดาห์ และเส้นทางสมุย-ฉงชิ่ง จาก 2 เป็น 1 วันต่อสัปดาห์และปัจจัยที่ฉุดอัตราผลตอบแทนลงมากที่สุด คือ รายได้จากเส้นทางภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ในขณะที่ดีมานด์ลดลง

ในขณะที่เส้นทางบินภายในภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ CLMV กลายเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตและทำรายได้ได้ จนทำให้บริษัทปรับแผนในครึ่งปีหลังปรับเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีความต้องการของผู้โดยสารและสอดคล้องกับสายการบินในเครือข่าย โดยตัดสินใจเปิดเส้นทางใหม่จากกรุงเทพฯสู่คัมรัน รวมถึงเตรียมเพิ่มความถี่ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ฟูโกว๊ก จาก 7 เป็น 14 วันต่อสัปดาห์ ตามเส้นทางกรุงเทพฯ-ดานังที่เพิ่มไปก่อนหน้า

“จากปัจจัยดังกล่าวนี้ทำให้ผลการดำเนินงานในครึ่งแรกที่ผ่านมามีรายได้รวม 13,865.7 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ ในส่วนของธุรกิจสายการบิน 10,106 ล้านบาท และมีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 3.02 ล้านคน รวมถึงมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 70% โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่บริษัทมีผลประกอบการติดลบในช่วงครึ่งปีแรก”

สำหรับสายการบินพันธมิตรของบริษัทนั้น ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 27 สายการบิน โดยเตอร์กิชแอร์ไลน์เป็นสายการบินล่าสุดที่ลงนามข้อตกลงในการให้บริการเที่ยวบินร่วม โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา และในครึ่งปีหลังนี้บริษัทมีแผนที่จะลงนามข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินเพิ่มเติมอีก 1-2 สายการบิน

นอกจากนี้ยังคาดว่าจะสามารถหารายได้เพิ่มจากกลุ่มผู้โดยสารใหม่ ๆ จากช่องทางการขายใหม่ในโลกออนไลน์ หลังการเจรจาเพื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (OTA) ผ่านโฮลเซลของ travelfusion ที่มี OTA ในเครือข่ายกว่า 600 ราย โดยตั้งเป้าที่จะทำรายได้จากการขายออนไลน์ให้ได้ 5% ภายในระยะเวลาอันใกล้ ก่อนจะขยับออกไปสู่ 20-30% ในอนาคต

ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารและอัตราผลตอบแทนในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงรักษาระดับไม่ลดลงจากเดิมมากนักโดยจำนวนผู้โดยสารคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านคน ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อต้นปีที่ประมาณการไว้ 6.16 ล้านคน และลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสาร 5.9 ล้านคน

สำหรับในส่วนของรายได้รวมตลอดทั้งปีนั้น นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า หากสามารถรักษาอัตราผลตอบแทนในระดับเดียวกับครึ่งแรกของปีเอาไว้ได้ คาดว่าจะไม่ปรับลดลงเกินกว่า 5% และเชื่อว่าจะสามารถทำกำไรได้เช่นกัน

ส่วนธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน อาทิ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด พบว่า ในครึ่งปีแรกมีลูกค้ารวม 18 สายการบิน และยังได้เปิดครัวการบินเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ ครัวการบินกรุงเทพ เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงร่วมกับบริษัท กูร์เมท์พรีโม่ จำกัด รับสิทธิประกอบกิจการจัดส่งอาหารและเครื่องดื่มให้แก่อากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2562 นี้

ส่วนของธุรกิจบริการภาคพื้น บริษัท การบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด มีส่วนแบ่งทางการตลาด 60% มีลูกค้าเพิ่มขึ้นจำนวน 7 ราย รวมเป็น 82 สายการบิน และบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด มีส่วนแบ่งทางการตลาด 48% มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 5 ราย รวมเป็น 72 สายการบิน

นอกจากนั้น บริษัทยังเตรียมเปิดให้บริการโครงการสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ภายใต้บริษัทย่อยแห่งใหม่ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ด้วยงบฯลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในต้นปีหน้า เช่นเดียวกับโรงซ่อมเครื่องบินในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งวางงบฯลงทุนไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาทและอยู่ระหว่างการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนจะก่อสร้างภายในปีหน้า