“คาเชต์ฯ” กางแผนรุก ชู “ไลฟ์สไตล์แบรนด์” ปักธงโรงแรมทั่วโลก

คิมมี่ เฉิน

สัมภาษณ์พิเศษ

นับเป็นแบรนด์น้องใหม่มาแรงแบรนด์หนึ่งในธุรกิจโรงแรม สำหรับ “คาเชต์ ฮอสพิทอลลิตี้ กรุ๊ป” หรือ CHG เครือบริษัทบริหารแบรนด์และการจัดการธุรกิจบริการประเภทไลฟ์สไตล์แบรนด์อเมริกันที่หันมาบุกตลาดในโซนเอเชีย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “คิมมี่ เฉิน” ประธานบริษัท คาเชต์ ฮอสพิทอลลิตี้ กรุ๊ป (CHG) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแผนการเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคเอเชีย และไทย จุดขายและเป้าหมายในการเข้ามาเปิดตลาดไปทั่วโลกในฐานะแบรนด์น้องใหม่ไว้ ดังนี้

Q : “คาเชต์ ฮอสพิทอลลิตี้ กรุ๊ป” มีที่มาอย่างไร

บริษัท คาเชต์ ฮอสพิทอลลิตี้ กรุ๊ป เป็นแบรนด์อเมริกัน เป็นบริษัทบริหารแบรนด์และการจัดการธุรกิจบริการประเภทไลฟ์สไตล์ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และสถานบันเทิงแบรนด์ แต่มาจดทะเบียนก่อตั้งที่ฮ่องกง เมื่อปี 2007 และเปิดโรงแรมเออร์เบิร์น ที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2008

จากนั้นได้เริ่มทยอยเปิดโรงแรมเพิ่มขึ้น ภายใต้แบรนด์ คาเชต์ (CACHET) และเปลี่ยนชื่อเป็น “คาเชต์ ฮอสพิทอลลิตี้ กรุ๊ป” ในปี 2013 ปัจจุบันกลุ่มคาเชต์ฯ มีสำนักงานอยู่ที่เมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ดูแลตลาดในอเมริกาและอเมริกาเหนือ รวมถึงคาบสมุทรแคริบเบียน สำนักงานเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ดูแลตลาดจีนตอนกลาง ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน สำนักงานกรุงเทพฯ ประเทศไทย ดูแลตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดสำนักงานที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับดูแลตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

Q : มีแบรนด์ที่บริหารกี่แบรนด์ แต่ละแบรนด์มีโพซิชันนิ่งอย่างไร

ตอนนี้ กลุ่มคาเชต์ฯมีแบรนด์หลัก 3 แบรนด์ ประกอบด้วย คาเชต์ (CACHET), เออร์เบิร์น (URBN) และชาวองท์ (SAVANT) โดยในส่วนของแบรนด์คาเชต์จะมีแบรนด์ย่อยตามรูปแบบการลงทุน อาทิ คาเชต์ เดอลุกซ์ จับตลาดไฮเอนด์ คนรุ่นใหม่ เน้นเรื่องเทคโนโลยี

คาเชต์ บีช เป็นแบรนด์สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นชายหาดเป็นหลัก และมีพื้นที่บีชฟรอนต์

คาเชต์ บูติค เป็นโรงแรมที่เน้นในเรื่องของดีไซน์ และบริการที่เป็นเพอร์ชันนอลไลฟ์ มีขนาดไม่ใหญ่มาก

คาเชต์ แกรนด์ เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ มีบริการครบ ทั้งห้องพัก ห้องประชุมสัมมนา ห้องอาหาร ฯลฯ

ส่วนแบรนด์เออร์เบิร์น เป็นโรงแรมที่เน้นเรื่องของกรีน คอนเซ็ปต์ และความยั่งยืน ปัจจุบันมีแห่งเดียวที่เซี่ยงไฮ้

ขณะที่แบรนด์ชาวองท์ เป็นโรงแรมระดับกลาง และเป็นไลฟ์สไตล์โฮเต็ล ที่มีบุคลิคที่เป็นท้องถิ่นของเมืองที่เข้าไปเปิดผสมผสานอยู่ด้วย

Q : ปัจจุบันมีโรงแรมที่บริหารกี่แห่ง และมีเป้าหมายระยะยาวอย่างไร

ขณะนี้มีโรงแรมในกลุ่มคาเชต์ฯ เปิดให้บริการไปแล้ว 16 แห่ง ใน 4 ประเทศ อาทิ จีน 4 แห่ง อเมริกาและเม็กซิโก 4 แห่ง ไทย 2 แห่ง (อยู่ระหว่างเตรียมเปิดตัวอีก 1 แห่ง) เป็นต้น

สำหรับ 2 แห่งในไทย คือ คาเชต์ รีสอร์ท เดวา ภูเก็ต จะเปิดตัวเดือนธันวาคมนี้ และชาวองท์ เวลา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแบรนด์ชาวองท์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะเปิดในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน

สำหรับอีก 1 โครงการที่เซ็นสัญญาแล้ว แต่อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดตัว คือ โครงการ “สไมล์ สแควร์ กรุงเทพฯ” บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยโครงการนี้ กลุ่มคาเชต์ฯจะบริหารโรงแรมในรูปแบบมัลติแบรนด์ คือ มี 3 แบรนด์อยู่ในพื้นที่เดียวกัน คือ คาเชต์ เดอลุกซ์, คาเชต์ แกรนด์ และคาเชต์ เรสซิเดนต์ รวมทั้งหมดราว 600 ห้องพัก

สำหรับเป้าหมายการขยายงานในระยะยาวนั้น จะยังคงเน้นเพิ่มการเติบโตในตลาดเดิมที่มีมั่นคงอยู่แล้ว เช่น ไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแผนที่จะเปิดตลาดใหม่ ๆ เข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น ในตลาดตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งเราก็มีแผนเปิดสำนักงานที่ดูไบอยู่แล้ว

ส่วนในประเทศไทยนั้นจากนี้ไปวางเป้าเปิดโรงแรมใหม่ไว้ที่ 5 แห่งต่อปี หรือราว 30 แห่งภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

Q : ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร และสถานบันเทิง มีแผนอย่างไรบ้าง

ในส่วนของธุรกิจอาหารและสถานบันเทิงนั้น แนวทางการลงทุนจะมีทั้งที่ไปคู่กับโรงแรมที่เข้าไปบริหารและในรูปแบบสแตนด์อะโลน ด้วยภาพลักษณ์ของกลุ่มคาเชต์ฯ เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ จึงอยากให้แขกที่เข้ามาพักได้ดื่มด่ำและชื่นชมกับประสบการณ์ในด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร แหล่งแฮงเอาต์ รวมถึงแหล่งปาร์ตี้ต่างๆ ด้วย

ดังนั้น จึงได้พัฒนาคอนเซ็ปต์ของอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และเอ็นเตอร์เทนเมนต์เข้ามาด้วย อาทิ วอเตอร์เฮ้าส์ ซึ่งเป็นร้านสเต๊กเฮาส์ ซึ่งเปิดให้บริการแล้วที่ฮ่องกง คุนหมิง และมีแผนจะมาเปิดที่โครงการสไมล์สแควร์ด้วย

ร้านอเลตา เรสเตอรองท์ บาร์ แอนด์ กริล ซึ่งเป็นร้านอาหารแบรนด์ซีฟู้ด ปัจจุบันเปิดแล้วที่เม็กซิโก และกำลังจะเปิดที่คาเชต์ รีสอร์ทฯ ภูเก็ต

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ที่บริหารร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีชื่อเสียง เช่น วาห์ลเบอร์เกอร์ แบรนด์ร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังที่ก่อตั้งโดยเชฟ พอล วาห์ลเบิร์ก ร่วมกับมาร์ก วาห์ลเบิร์ก ส่วนที่เป็นไนต์ไลฟ์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ขณะนี้มีแบรนด์ของตัวเองชื่อว่า เดอะ โซเชี่ยล และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ระดับโลกอีก 1 แบรนด์

Q : จุดขายหลักที่ทำให้เจ้าของโครงการเชื่อมั่นและเลือกให้กลุ่มคาเชต์ฯเข้าไปบริหารคืออะไร

มองว่าจุดขายหลักของกลุ่มคาเชต์ฯ ที่ทำให้เจ้าของโครงการและนักลงทุนเชื่อมั่นและเลือกแบรนด์เราเข้าไปบริหาร มาจาก 3 ส่วนหลัก คือ 1.คาเชต์ฯ เป็นบริษัทบริหารแบรนด์ประเภทไลฟ์สไตล์ ซึ่งปัจจุบันเจ้าของโครงการเริ่มมองว่าไลฟ์สไตล์เป็นเทรนด์ใหม่ และจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในอนาคต

รวมทั้งยังมีเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเป็นออนไลน์มาร์เก็ตเพลสที่สมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ ยังมีทีมอินทีเรียร์ดีไซน์ของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนคุมต้นทุนได้ดีกว่า และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

2. คาเชต์ฯ มีทีมบุคลากรระดับบริหารที่มีประสบการณ์หลากหลาย และให้บริการแบบเข้าถึง เน้นการทำงานแบบคุณภาพ ใส่ใจทุกโปรเจ็กต์ของลูกค้า ซึ่งจุดนี้หากเลือกใช้บริการเชนอินเตอร์ขนาดใหญ่ เจ้าของโครงการหรือนักลงทุนมักจะได้เจอแค่ทีมสตาฟเท่านั้น

และ 3.เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือเราจะมองว่า การเซ็นสัญญาโปรเจ็กต์เข้ามาจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่จะทำให้สัญญานั้นเป็นจริงได้ และมองว่าผลงานที่ออกมาเป็นรื่องสำคัญมาก โดยทีมโอเปอเรชั่นทั้งหมดมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปีแทบทั้งสิ้น

จุดนี้เองที่สะท้อนชัดเจนว่า แม้ว่า “คาเชต์ ฮอสพิทอลลิตี้ กรุ๊ป” จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่ประสบการณ์ของทีมบริหารและประสิทธิภาพการทำงานของทีมบุคลากร ไม่ได้ด้อยไปกว่าแบรนด์ที่เปิดให้บริการมานานแล้วแต่อย่างใด