“อพท.” เตรียมพร้อม มาตรฐานความยั่งยืน พื้นที่พิเศษ “เมืองเชียงแสน”

ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาตรา 4 กำหนดให้ “พื้นที่พิเศษ” หมายความถึงพื้นที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช.

“พื้นที่พิเศษเมืองเชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยง” จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่อยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา

“ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท.ได้ทำการศึกษาเพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยงมาแล้วตั้งแต่ปี 2556

และได้ลงไปสำรวจพื้นที่จริงในปี 2557 พบว่า เชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เป็นที่ตั้งแหล่งประวัติศาสตร์อารยธรรมก่อนล้านนาและล้านนาที่ยังคงเหลือร่องรอยโบราณสถานให้เห็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณเมืองเชียงแสนและแหล่งประวัติศาสตร์เชื่อมโยง สามารถเข้าถึงได้สะดวกทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ

และยังเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยวกับเมืองสุวรรณโคมคำและเมืองหลวงพระบางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองเชียงรุ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน และเมืองเชียงตุงในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้ตามเส้นทาง R3A เส้นทาง R3B และการล่องเรือแม่น้ำโขง พื้นที่ส่วนนี้จึงได้รับผลดีจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)

คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) จึงเห็นชอบให้ อพท. โดยสำนักงานการพัฒนาฯ(สพข.) เข้าไปดำเนินงานในจังหวัดเชียงราย ด้วยการนำองค์ความรู้ “มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (sustainable tourism management standard : STMS) ไปพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะถูกบรรจุในแผนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา

พร้อมทั้งเตรียมทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือพิจารณาตามลำดับ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2563 และได้งบประมาณในปี 2565

“วันนี้ถือว่าพื้นที่เชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยง จังหวัดเชียงราย มีความพร้อมในการขับเคลื่อนค่อนข้างมาก ทั้งในส่วนของชุมชน กรมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกภาคส่วน”

โดยล่าสุด อพท.ได้ทำโครงการ อพท.น้อยขึ้น ด้วยการเปิดให้องค์กรท้องถิ่นจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยว หรือ STMS โดย อพท.จะอบรมให้ความรู้แก่ตัวแทนที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปใช้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่นต่อไป

โดยหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน STMS มีจำนวน 11 องค์กร พร้อมทั้งจัดกิจกรรมมอบประกาศนียบัตรการส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไปเรียบร้อยแล้วเมื่อ 29 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

ประกอบด้วย เทศบาลตําบลท่าสาย, เทศบาลตําบลนางแล, เทศบาลตําบลแม่ยาว, เทศบาลตําบลเวียงเชียงแสน, เทศบาลตําบลศรีดอนชัย, เทศบาลตําบลห้วยไคร้, เทศบาลนครเชียงราย, องค์การบริหารส่วนตําบลรอบเวียง, องค์การบริหารส่วนตําบลห้วยไคร้, องค์การบริหารส่วนตําบลห้วยชมภู, และบริษัท นิวเชียงแสน กรุ๊ป จํากัด อ.เชียงแสน

“ทวีพงษ์” บอกด้วยว่า สำหรับมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้นประกอบด้วยเกณฑ์ 4 ด้าน ประกอบด้วย การจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว, แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, แนวทางการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน และการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้กับประชาชน โดยผู้ที่จะผ่านการอบรมต้องมีผลการประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

พร้อมทั้งย้ำว่า อพท.เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถดำเนินงานได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะและผลกระทบที่เกิดขึ้น การวางแผนยุทธศาตร์ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น เพื่อพัฒนา STMS ให้เป็นเกณฑ์ที่ใช้พัฒนาให้หน่วยงาน องค์กร ได้นำไปใช้นำไปปฏิบัติ จึงเป็นแนวของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง