ทุ่ม 4 หมื่นล.ขยายสนามบินภูธร ดึงเอกชนลงทุน-พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

แฟ้มภาพประกอบข่าว

กรมท่าอากาศยานทุ่ม 3.8 หมื่นล้าน ซื้อที่ดินก่อสร้างสนามบิน 29 แห่งทั่วประเทศ รับท่องเที่ยว-ผู้โดยสารพุ่งไม่หยุด ดึงเอกชน PPP พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพิ่มรายได้ ลดภาระรัฐ ประเดิมกระบี่ นครศรีธรรมราช ขอนแก่น ตรัง สุราษฎร์ธานี

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมกำลังเร่งยกระดับการพัฒนาท่าอากาศยาน 29 แห่งรวมสนามบินเบตง จะวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ให้เป็นท่าอากาศยานที่ทันสมัย และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของไทยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและปริมาณผู้โดยสารที่เติบโตขึ้นทุก ๆ ปี ล่าสุดยอดผู้โดยสารทั้ง 28 สนามบินนับจาก ต.ค.2559-ก.ค. 2560 อยู่ที่ 16.14 ล้านคน

ดรุณ แสงฉาย

โดยจัดทำเป็นแผนพัฒนา 10 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ใช้งบประมาณ 38,561.78 ล้านบาท ในระยะ 5 ปีแรก ปี 2560-2564 ใช้งบประมาณ 29,154.75 ล้านบาทมี 5 แห่ง ได้แก่ 1.ท่าอากาศยานกระบี่ ใช้งบประมาณ 6,885.63 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารหลังที่ 1-2 วงเงิน 3,815.50ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2564 รองรับผู้โดยสารได้ถึง 8 ล้านคนต่อปี จากปี 2559 อยู่ที่ 4.04 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกินจากขีดความสามารถที่รับได้ 4 ล้านคนต่อปี และจัดซื้อที่ดินก่อสร้างลานจอดเครื่องบินและทางขับขนานติดตั้งระบบไฟนำร่องอากาศยาน วงเงิน 3,070.13 ล้านบาท รองรับการจอดท่าอากาศยานได้ 30 ลำ

2.นครศรีธรรมราช งบประมาณ 6,122.70 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักหลังใหม่ 1,831.50 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2564 รองรับผู้โดยสารได้ 4 ล้านคนต่อปี จากปี 2559 อยู่ที่ 1.5 ล้านคนต่อปี เกินจากขีดความสามารถที่รับได้ 1.1 ล้านคนต่อปี และจัดซื้อที่ดินเพิ่มความยาวทางวิ่งและลานจอดเครื่องบินใช้งบฯ 4,291.20 ล้านบาท รองรับอากาศยานที่มีความจุจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 180 ที่นั่ง เป็น 215 ที่นั่ง และจอดอากาศยานได้ 14 ลำ

3.ขอนแก่น ใช้งบฯ 2,851.75 ล้านบาทสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ 2,543.5 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2564 รับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปี จากปี 2559 อยู่ที่ 1.5 ล้านคนต่อปี และขยายลานจอดเครื่องบิน 308.25 ล้านบาท รองรับการจอดอากาศยานได้ 11 ลำจากปัจจุบัน 5 ลำ ภายในเดือน ก.ย.นี้จะเปิดประมูลและจะเริ่มงานก่อสร้างต้นปี 2561

4.ตรัง ใช้งบประมาณ 3,987 ล้านบาทก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 1,221 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2564 รองรับผู้โดยสารได้ 3.4 ล้านคนต่อปี จากปี 2559 อยู่ที่ 650,000 คนต่อปี และจัดซื้อที่ดินเพิ่มความยาวทางวิ่ง และลานจอดเครื่องบิน 2,766 ล้านบาท รองรับอากาศยานที่มีความจุจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้น จาก 180 ที่นั่งเป็น 215 ที่นั่งและจอดอากาศยานได้ 10 ลำ

และ 5.สุราษฎร์ธานี ใช้งบประมาณ 2,291.90 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่พร้อมอาคารจอดรถยนต์ 2,035 ล้านบาท จะเปิดบริการปี 2568 รองรับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปี จากปี 2559 อยู่ที่ 2 ล้านคนต่อปี และขยายลานจอดเครื่องบิน 256.9 ล้านบาท สามารถจอดอากาศยานได้ 8 ลำ ส่วนระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 9,407.03 ล้านบาท เริ่มพัฒนาปี 2565-2569 ได้แก่ นราธิวาส อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร อุดรธานี เลย ลำปางและหัวหิน

“หลังโครงการพัฒนาแล้วเสร็จ จะทำให้ปริมาณรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปี 2559 อยู่ที่ 17 ล้านคนต่อปี เป็น 30 ล้านคนต่อปีในปี 2568 และ 58 ล้านคนต่อปีในปี 2578 เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO” นายดรุณกล่าวและว่า

สำหรับแนวทางการพัฒนา ในบางสนามบินกรมอาจจะเสนอให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP เพื่อลดภาระรัฐ อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและการติดสนใจจากกระทรวงคมนาคม รวมถึงนำพื้นที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ด้านการบินของทุกท่าอากาศยาน เปิดให้เอกชนร่วมพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล

เช่น สนามบินอุดรธานีร่วมกับ บมจ.ปตท.เซ็นสัญญาพัฒนาและบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในสนามบิน คาเฟ่ อเมซอน และ Texas Chicken รวมถึงบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถภายนอกอาคาร แต่จะไม่ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งมาพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด ต่อไปจะได้เห็นที่สนามบินขอนแก่นมีพื้นที่อาคารหลังใหม่กว่า 4 หมื่น ตร.ม.