“ดุสิตธานี”เขย่าพอร์ตรายได้ ลดสัดส่วนรร.เร่งกลุ่มอาหาร-การศึกษา

“ดุสิตธานี” เขย่าพอร์ตธุรกิจ สร้างสมดุล ลดความเสี่ยง เร่งลงทุนธุรกิจอาหาร-การศึกษา ตั้งเป้าลดสัดส่วนรายได้โรงแรมจากกว่า 80% เหลือ 40%พร้อมเล็งขยายโรงแรมสู่ต่างประเทศมากขึ้น ล่าสุดจ่อซื้อโรงแรมในยุโรป-ญี่ปุ่นเสริมรายได้อีกทาง คาดอีก 4 ปีมีห้องพักรวมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นห้อง

นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน กลุ่มบริษัทดุสิตธานี เปิดเผยว่า เป้าหมายการดำเนินธุรกิจของบริษัทในขณะนี้คือ การกระจายสัดส่วนรายได้ระหว่างธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่นให้มากขึ้น ด้วยการมุ่งขายพอร์ตการลงทุนไปในธุรกิจอื่น ๆ โดยได้ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมไว้ที่ประมาณ 40% ธุรกิจอาหาร 20% ธุรกิจการศึกษา 10-15% และธุรกิจอื่น ๆ 10-15% ภายในปี 2565 จากสัดส่วนรายได้ของปี 2561 ที่บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงแรม 83.2% ธุรกิจการศึกษา 7.6% และธุรกิจอื่น ๆ 9.2%

รุกหนักอาหาร-การศึกษา

โดยปีที่ผ่านมาบริษัทได้เร่งลงทุนในกลุ่มธุรกิจอาหารผ่านการเข้าลงทุนในบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด ผู้บริหารโรงงานผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท เอ็บเพอคิวร์เคเทอริ่ง จำกัด (ECC) ผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในโรงเรียนนานาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นตัวสร้างรายได้มากกว่า 450 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าไปลงทุนในธุรกิจอาหารในเวียดนามซึ่งมีมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท โดยหากการลงทุนสามารถทำได้ตามที่คาดไว้ รายได้จากธุรกิจนี้จะช่วยทดแทนรายได้ที่หายไปได้เกือบทั้งหมด

โดยล่าสุดยังได้เปิดให้บริการ “บ้านดุสิตธานี” ร้านอาหารย่านศาลาแดงไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ลูกค้าของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ สามารถเข้าใช้บริการอาหารและเครื่องดื่มในรสชาติที่คุ้นเคย รวมถึงยังได้ลงทุนใน “ดุสิต เรียล ฟู้ดส์” เพื่อผลิตและจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ โดยจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมนี้

เขย่าสัดส่วนรายได้รวม

สำหรับธุรกิจการศึกษานั้น นายณรงค์ชัยกล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดให้บริการ Dusit Hospitality Management College (DHMC) โรงเรียนการโรงแรมและอาหารในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะมีโรงแรมดุสิต ดีทู เดอะ ฟอร์ต มะนิลา ให้บริการควบคู่ พร้อมเปิดให้นักเรียนจาก DHMC ได้ทดลองทำงานเพื่อรับประสบการณ์จริงในปลายปีนี้

นายณรงค์ชัยกล่าวต่อไปว่า ผลจากการขยายการลงทุนตลอดครึ่งแรกที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น 205 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเข้าลงทุนในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่งจํากัด ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมลดลง 336 ล้านบาท และธุรกิจการศึกษาลดลง 8 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมขยับลงไปอยู่ที่ประมาณ 73.6% ธุรกิจอาหารขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7.9% ธุรกิจการศึกษา 7.2% และอื่น ๆ อีก 1.3%

เพิ่มโรงแรมใหม่ 10 แห่งต่อปี

นอกจากนั้น บริษัทยังได้เดินหน้าเปิดโรงแรมเพิ่มเติม 5 โรงแรมในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา จากแผนที่วางไว้ 10 โรงแรมต่อปี ประกอบด้วยโรงแรมที่ดุสิตธานีเป็นเจ้าของ 1 แห่ง คือโรงแรมดุสิต สวีท โฮเทล ราชดำริ และโรงแรมที่รับบริหารงานอีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี มักตัน เซบู ประเทศฟิลิปปินส์, โรงแรมดุสิต ดีทู ดาเบา ประเทศฟิลิปปินส์, โรงแรมดุสิต โดฮา ประเทศกาตาร์ และโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เรสซิเดนซ์ ดูไบ มาริน่า ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเร่งเดินหน้าเปิดให้บริการอีก 5 แห่ง แบ่งเป็นในจีน 3 แห่ง และฟิลิปปินส์ 2 แห่ง ทั้งนี้ คาดว่าจะทำรายได้ให้กับบริษัทประมาณ 70-100 ล้านบาท รวมถึงเตรียมที่จะเปิดให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมต่าง ๆ อาทิ ดุสิต ออน ดีมานด์ สำหรับรับบริหารจัดการระบบแม่บ้าน และดุสิต อีเวนต์ สำหรับรับบริหารจัดการอีเวนต์ต่าง ๆ ด้วย

ปี”66 มีห้องพักกว่า 2 หมื่นห้อง

“ในสภาวะที่การท่องเที่ยวไทยเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนนี้ กลุ่มดุสิตธานีจำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยงออกไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงกระจายพอร์ตโรงแรมออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก เพื่อกระจายความเสี่ยงให้กับฐานจำนวนโรงแรมที่ไม่มากนักของกลุ่มด้วย” นายณรงค์ชัยกล่าว

และว่า ล่าสุดบริษัทได้เดินหน้าหาโรงแรมใหม่ ๆ เข้ามาไว้ในพอร์ต โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ภูมิภาคยุโรปและญี่ปุ่น โดยมีแผนที่จะเข้าซื้อโรงแรมในยุโรปอีก 1 แห่ง จำนวน 260 ห้อง นอกจากนั้น บริษัทยังเตรียมที่จะเปิดให้บริการโรงแรมแรกภายใต้แบรนด์ “อาศัย” แบรนด์บูทีคแรกของกลุ่มดุสิตธานี โดยโรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ จำนวน 224 ห้อง จะเปิดให้บริการในไตรมาสแรกของปี 2563 นี้

บรรลุเป้ากระจายพอร์ตลดเสี่ยง

ทั้งนี้ ดุสิตธานีตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนโรงแรมในพอร์ตจากจำนวนกว่า 8,579 ห้องใน 14 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน ให้ถึง 14,000 ห้องภายในปี 2564 และมากกว่า 20,000 ห้องในมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลกในปี 2566 โดยคาดว่าธุรกิจในกลุ่มดุสิตธานีจะเริ่มเข้าสู่สมดุลตามเป้าหมายของการกระจายพอร์ตเพื่อสร้างสมดุลและลดความเสี่ยงทางธุรกิจได้ในปี 2565 ก่อนจะเผยภาพลักษณ์ใหม่ภายในปี 2566 ที่จะเริ่มเปิดให้บริการโรงแรม ศูนย์การค้า และสำนักงานในโครงการดุสิต เซ็นทรัล ปาร์ค

นายณรงค์ชัยกล่าวเพิ่มเติมถึงผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่ผ่านมาด้วยว่า กลุ่มดุสิตธานีมีรายได้รวม 2,695 ล้านบาท ลดลง 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 128 ล้านบาท จากรายได้ 2,823 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน

ทั้งนี้ เป็นผลจากการสูญเสียรายได้กว่า 800 ล้านบาท จากการปิดปรับปรุงโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ, โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน และโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จากการปิดปรับปรุงห้องพักบางส่วน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทยและสภาวะค่าเงินบาทแข็งด้วย