โค้งท้ายท่องเที่ยวไทย ไร้สัญญาณบวก-หวัง “ชิมช้อปใช้” หนุน

จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนบวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยยังเจอศึกหนักในทุกภาคส่วน และในเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงของการก้าวสู่โค้งสุดท้ายของปีแล้ว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้อัพเดตสถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวไทย ผ่านมุมมองของกูรูด้านการท่องเที่ยวของไทย ไว้ดังนี้

คาดนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคน

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว พร้อม ๆ กับมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ของภาครัฐบาลที่ออกมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง 3-4 เดือนสุดท้ายนี้ จึงมองว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แม้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ของประเทศเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างหนัก และกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการฟื้นฟู

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) ทั้งหมด 103.5 ล้านคน-ครั้ง เติบโตเพียง 1% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 7 แสนล้านบาท หรือเติบโต 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตัวเลขดังกล่าวนี้ถือว่ายังห่างจากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 170 ล้านคน-ครั้งอยู่พอสมควร แต่คาดว่าผลจากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” จะทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเดือนละอย่างน้อย 20 ล้านคน-ครั้ง และทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศโดยรวมถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า ได้รับรายงานจากสำนักงาน ททท.ในหลายพื้นที่ว่า สถานการณ์เริ่มดีขึ้น อาทิ สำนักงานนิวยอร์ก, ลอสแองเจลิส ที่มีอัตราการจองล่วงหน้าของนักท่องเที่ยวเติบโตประมาณ 5% เช่นเดียวกับตลาดจีนและอินเดียที่ส่งสัญญาณบวกมาเป็นระยะ โดยคาดว่าตลาดจีนน่าจะสามารถเติบโตทะลุจำนวน 11 ล้านคน และตลาดอินเดียมีจำนวนนักท่องเที่ยวได้ถึง 2 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าจะสามารถผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึง 39.8 ล้านคน ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น “ยุทธศักดิ์” บอกว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญที่มีผลอย่างเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ททท.จะเร่งกระตุ้นให้เกิดความถี่ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวระยะใกล้อย่างกลุ่มประเทศอาเซียน จีน หรืออินเดีย เพื่อเพิ่มรายได้ผ่านความถี่ในช่วงที่นักท่องเที่ยวกังวลเรื่องการใช้จ่าย

หวัง “ชิม ช้อป ใช้” กระตุ้น

ด้าน “ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) มองว่า แม้ว่าธุรกิจกำลังเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีแล้ว แต่สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศในภาพรวมก็ยังคงไม่ดีนัก เนื่องจากผลของเศรษฐกิจในภาพรวม ภัยธรรมชาติ และความกังวลทางการเมือง ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวภายในประเทศยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ ททท.ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมหวังว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล อย่างเช่นมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ทั้งในส่วนของการแจกเงิน 1,000 บาท และการมอบเงินคืน 15% สูงสุด 4,500 บาท สำหรับการใช้จ่ายนอกเขตจังหวัดภูมิลำเนาจะทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากยิ่งขึ้น

“ภูริวัจน์” บอกด้วยว่า นอกจากทางสมาคมจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังมีแผนที่จะเสนอให้มีมาตรการสนับสนุนให้เกิดการเดินทางออกจากบ้าน โดยเตรียมที่จะเสนอให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ เลือกเดินทางสัมมนาและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลภายในประเทศแทนการเดินทางออกนอกประเทศ

ทั้งนี้ สมาคมคาดว่าหากสถานการณ์ในไตรมาส 4 ไม่ดีขึ้น ผลกระทบจากตัวแปรหลาย ๆ ประเด็นในปี 2562 นี้อาจจะส่งผลกระทบไปถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ด้วย

“ใต้-เหนือ” เริ่มกระเตื้อง

ขณะที่ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย ประเมินว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยช่วงที่ผ่านมายังถือว่าไม่ดีนัก จากสภาพเศรษฐกิจโลกและไทยซบเซา โดยผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ สภาพอากาศช่วงโลว์ซีซั่นที่มีฝนตกต่อเนื่อง ไม่เอื้อกับการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงก่อให้เกิดภัยพิบัติที่กระทบกับการท่องเที่ยวเป็นระยะ

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้แถบภูเก็ต, กระบี่, สมุย ที่เพิ่งจะขยับตัวกระเตื้องขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา หลังจากสภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนและฝนตกน้อยลง มีนักท่องเที่ยวจากตลาดอินเดีย, จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เดินทางเข้ามามากขึ้นประมาณ 10-20%

ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ภาคเหนือในเมืองท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศมากนัก สวนทางกับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นอกจากเจอกับสภาพอากาศฝนตกหนักแล้วยังประสบภัยพิบัติร่วมด้วย ทำให้คาดว่าในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้สถานการณ์การท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคใต้จะทรง ๆ หรือเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาไม่มาก

วอนรัฐดูแล “ค่าบาท”

“วิชิต ประกอบโกศล” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ได้คาดการณ์ว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวอินบาวนด์ (ต่างชาติเที่ยวไทย) ช่วงสุดท้ายของปี 2562 จะยังคงเติบโตได้อยู่ เพียงแต่อัตราการเติบโตไม่มากเหมือนกับปีอื่น ๆ ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2562 จะมีจำนวนมากกว่า 40 ล้านคน

โดยนักท่องเที่ยวจีนจะยังคงเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หรือมีจำนวนที่ราว 11 ล้านคน ในขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดียน่าจะเติบโตมากที่สุดถึง 20% จากผลของมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ฟรี VOA)

ทั้งนี้ มองว่าส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี 2562 คือสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่ามากกว่านี้ เพราะหากเงินบาทยังทวีความแข็งค่า มีโอกาสที่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

“ในส่วนของภาคเอกชนเราสู้เต็มที่ ทั้งด้านการตลาดและการโปรโมตต่าง ๆ แต่อยากขอให้ภาครัฐช่วยในเรื่องการจัดการกับค่าเงินบาทอย่างเต็มที่เช่นกัน”

ยอดบุ๊กกิ้งโรงแรมไม่ขยับ

ขณะเดียวกัน “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยอดจองโรงแรมที่พักในเดือนตุลาคมที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นมีเข้ามาให้เห็นบ้างแล้ว แต่ยังไม่มากนัก และในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวนั้นก็ยังไม่เห็นการจองล่วงหน้าเข้ามามากนักเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ยังคงฝากความหวังไว้ที่เดือนพฤศจิกายนนี้ไปถึงช่วงต้นปีหน้าที่ยังอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย โดยคาดว่าคงเห็นการเติบโตบ้างไม่มากก็น้อย แม้เศรษฐกิจโลกจะยังผันผวนและยังไม่เห็นสัญญาณบวกจากภาคท่องเที่ยวแต่อย่างใด