ก้าวใหม่ “ไทยสมายล์” เดินตามยุทธศาสตร์ “การบินไทย”

สัมภาษณ์

ได้รับแต่งตั้งให้นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ สายการบินไทยสมายล์ไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับ “ชาริตา ลีลายุทธ” และเป็นซีอีโอหญิงเพียงไม่กี่คนที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งซีอีโอสายการบินพาณิชย์ แถมยังเข้ามาบริหารงานท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของธุรกิจสายการบินในห้วงเวลานี้

“ชาริตา ลีลายุทธ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรและผลักดันศักยภาพการเติบโตของไทยสมายล์ให้บรรลุเป้าหมายไว้ดังนี้

“ชาริตา” บอกว่า บทบาทไทยสมายล์ขณะนี้จะมุ่งให้ความสำคัญกับการทำงานประสานและเชื่อมโยงกับนโยบายของบริษัทแม่ (การบินไทย) โดยวางตำแหน่งไทยสมายล์เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของการบินไทย โดยเฉพาะการกำกับดูแลหัวใจขององค์กร กล่าวคือ การบริหารจัดการชั่วโมงบินให้มีประสิทธิภาพเพียงพอและเป็นไปตามเป้าหมาย

โดยมีแนวทางที่ชัดเจนในการเพิ่มชั่วโมงบิน ด้วยการจัดการบนพื้นฐานต้นทุนที่แข่งขันได้ และพิจารณาจากความพร้อมของเครื่องบินเป็นที่ตั้ง ซึ่งไทยสมายล์วางแผนเพิ่มชั่วโมงบินของเครื่องบินแต่ละลำให้ถึง 10 ชั่วโมงต่อวันในปีนี้ และจะหาแนวทางเพิ่มเป็น 11 ชั่วโมงในปี 2563 ให้ได้ รวมทั้งการขยายโครงข่ายด้านการบินให้มากขึ้น โดยมีแผนเพิ่มเส้นทางใหม่ในเร็ว ๆ นี้ คือ เชียงใหม่-เกาสง และกรุงเทพฯ-อัห์มดาบาด และเดินหน้าพัฒนาเส้นทางใหม่ร่วมกันกับการบินไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความถี่เส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศด้วย

“ชาริตา” บอกด้วยว่า นอกจากเรื่องการบริหารจัดการด้านการบินแล้ว ไทยสมายล์ยังโฟกัสไปที่ระบบการบริหารจัดการฝ่ายขาย รวมทั้งสื่อสารและมอนิเตอร์ร่วมกันกับการบินไทยในเรื่องมาตรฐานราคา การออกโปรโมชั่นที่เหมาะสม และส่งเสริมการขายไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน โดยให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรด้านราคาที่แข่งขันได้ และดึงดูดผู้โดยสารกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ จะยึดหลักการนำจุดแข็งของแต่ละคนมาทำงานประสานกัน ซึ่งการบินไทยมีความแข็งแกร่งเรื่องเส้นทางการบินเชื่อมโยงครอบคลุมและด้านการขาย ขณะที่ไทยสมายล์มีจุดแข็งเรื่องต้นทุนเพราะเริ่มต้นใช้โมเดลสายการบินต้นทุนต่ำในการเซตอัพธุรกิจ บวกกับระบบ operationการสื่อสาร มาตรฐานการบริการที่ดี ดังนั้นแนวทางต่อไปของไทยสมายล์จะเดินตามแผนแม่บท 5 ปี ซึ่งมีทั้งโรดแมปที่ชัดเจนสอดแทรกด้วยแผนปรับปรุง แผนสำรองในทุก ๆ ด้าน

ภารกิจสำคัญในตำแหน่งของซีอีโอนั้น นอกจากจะต้องยึดมั่นในการดำเนินตามแผนแม่บทร่วมกับการบินไทยแล้ว ยังต้องช่วยแก้ไขปัญหาที่ยังต้องสะสาง และวางแผนรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่กับการผลักดันนโยบายที่จะสร้างการเติบโตให้กับไทยสมายล์ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งไทยสมายล์หันมาสนใจบริหารจัดการ “หลังบ้าน” ให้มีประสิทธิภาพด้วยการทำต้นทุนองค์กรให้ต่ำลง โดยวางแผนที่จะปรับโครงสร้างทุน (restructure)ให้สำเร็จก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อให้ทันกับมาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะมีผลในปีหน้า

ขณะเดียวกัน ยังคงยึดเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นสายการบินฟูลเซอร์วิสชั้นนำในภูมิภาค โดยมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานการให้บริการที่ยอดเยี่ยม และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าในทุก touch point ในทุก ๆ เที่ยวบินของไทยสมายล์ให้ได้ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับ digital transformation มากขึ้น ทั้งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มตัวในด้านการชำระเงิน และเครื่องมือสร้างความพึงพอใจในบริการ รวมทั้งเดินหน้านโยบาย ecoefficiency ลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง

และล่าสุดกับการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร connecting partner ของ Star Alliance ซึ่งไทยสมายล์เห็นโอกาสที่สดใส เพราะหลายสายการบินต้องการให้บริการผู้โดยสารของตัวเองที่จะบินต่อในประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว ย่อมส่งผลดีในการขยายช่องทางการขายเพิ่มขึ้นและยังสะท้อนผลประโยชน์ที่ลูกค้าไทยสมายล์จะได้รับด้วยเช่นกัน

สำหรับแผนการต่อไปของไทยสมายล์นั้น “ชาริตา” บอกว่า ถึงแม้จำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ 20 ลำนั้นเพียงพอ แต่ไทยสมายล์วางแผนซื้อเครื่องบินเพิ่มตามทิศทางธุรกิจเติบโต โดยจะเพิ่มจำนวนเครื่องบินจากเดิมอีก 2 ลำในปี 2565 เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารในอนาคต

นอกจากนี้ ยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับตลาดที่มีศักยภาพสูงอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งไทยสมายล์มีเส้นทางบินอยู่จำนวนมาก สำหรับอินเดียนั้นมีแนวโน้มขยายเส้นทางผ่านรูปแบบ cobranding กับการบินไทยเพื่อบริหารต้นทุน ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาหลาย ๆ เมืองที่มีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาด อย่างเมืองโคชิ (Kochi หรือ Cochin)

ส่วนจีนนั้นจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย โดยต้องการเพิ่มกลุ่มลูกค้าซื้อตั๋วเดี่ยว ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ จึงต้องพัฒนาเว็บไซต์ให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งไทยสมายล์คาดหวังสัดส่วนลูกค้าเดี่ยวต่อกรุ๊ปเพิ่มขึ้นเป็น 60 : 40

พร้อมทั้งย้ำว่า มั่นใจอย่างมากว่า “ไทยสมายล์” มีโอกาสที่จะมีกำไรได้อย่างแน่นอน แต่เหนือไปกว่านั้นทุกนโยบาย ทุกการขับเคลื่อนล้วนเป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการขึ้นสู่ระดับสากลมากขึ้น