“วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ซีอีโอ เปิดแผนยุทธศาสตร์ปั๊มชีพจร “นกแอร์”

สัมภาษณ์

เข้ามาบริหารสายการบิน “นกแอร์” ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในช่วงที่สายการบินกำลังเผชิญ “วิกฤต” หนักพอสมควรทีเดียว สำหรับ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ตัวแทนของตระกูล “จุฬางกูร” ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ ถึงแผนงานและทิศทางการบริหารสายการบินนกแอร์ ภายใต้ซีอีโอใหม่ป้ายแดงของวงการธุรกิจสายการบินของไทยไว้ดังนี้

“วุฒิภูมิ” เริ่มต้นเล่าว่า หลังจากเขาเข้ามาทำหน้าที่ซีอีโอของนกแอร์ได้เกือบ 4 เดือน ปัจจุบันนกแอร์ได้เดินหน้าตามแผนปรับการบริหารงานเพื่อฟื้นฟูองค์กรแล้วในหลายแง่มุม โดยแบ่งแผนได้เป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ “การเพิ่มรายได้” และ “การลดค่าใช้จ่าย” ซึ่งได้เริ่มทำควบคู่กันไปกับการปรับภาพลักษณ์ เรียกความเชื่อมั่นผู้โดยสารคืนกลับมาสู่นกแอร์

มุ่งเปิดเส้นทางสู่หัวเมืองรอง

สำหรับแผนการเพิ่มรายได้ให้กับสายการบินนั้น “วุฒิภูมิ” บอกว่า แบ่งเป็นในส่วนของการเพิ่มรายได้จากค่าตั๋วโดยสารโดยตรง และรายได้อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากค่าโดยสาร โดยที่ผ่านมานกแอร์ได้ปรับแผนการบินใหม่ทั้งหมด ในเส้นทางระหว่างประเทศ หันมาให้ความสำคัญกับการขยายเส้นทางสู่หัวเมืองรองเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ดุเดือดทางด้านราคา รวมถึงเปิดให้บริการเที่ยวบินกลางคืนที่นกแอร์ไม่เคยทำมาก่อนมากขึ้น

โดยหลังรับฝูงบินเพิ่ม 2 ลำในปีนี้ ทำให้นกแอร์มีเครื่องบินมากพอสำหรับการเปิดเส้นทางใหม่ 2 เส้นทาง ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-กูวาฮาติ (อินเดีย) ซึ่งได้เปิดให้บริการไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮิโรชิมา (ญี่ปุ่น) ซึ่งเตรียมเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะเริ่มบินในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ส่วนเส้นทางภายในประเทศ นกแอร์เตรียมที่จะขยายเส้นทางบินข้ามภูมิภาคมากขึ้น

ผนึกพาร์ตเนอร์เพิ่มรายได้

ส่วนรายได้อื่น ๆ นอกจากค่าตั๋วโดยสารนั้น “วุฒิภูมิ” ให้ข้อมูลว่า เดิมทีเดียวนกแอร์มีสัดส่วนจากรายได้กลุ่มนี้อยู่เพียง 8-12% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าสายการบินอื่นในตลาดที่มีสัดส่วนรายได้ดังกล่าวประมาณ 20-30% นกแอร์จึงเตรียมที่จะขยับเพิ่มสัดส่วนรายได้ในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการจับมือกับพันธมิตรขายตั๋วเครื่องบินพร้อมแพ็กเกจอื่น ๆ อาทิ โรงแรม รถเช่า กิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยว ควบคู่กันไปด้วย

“โดยในส่วนของการจับมือกับพาร์ตเนอร์โรงแรม ขณะนี้นกแอร์อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการจองและการเจรจากับเครือข่ายโรงแรมระดับโลกที่มีเครือข่ายโรงแรมจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ 3 รายก่อนจะเลือกเซ็นสัญญากับพันธมิตรเพียงรายเดียว เช่นเดียวกับการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทรถเช่าที่จะเซ็นสัญญาเพียงรายเดียว และจะเชื่อมต่อระบบของพันธมิตรเข้ากับระบบของนกแอร์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ทันที ส่วนกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ นั้นจะรวบรวมจากเอเย่นต์และผู้ให้บริการหลายเจ้าต่อไป ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะเสร็จทันไตรมาส 4 ของปีนี้”

เปิดคลังชิ้นส่วนลดต้นทุนซ่อม

สำหรับในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตนั้น ขณะนี้นกแอร์ได้ตัดสินใจใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เปิดคลังเก็บชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับซ่อมแซมเครื่องบินเป็นของตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมาสายการบินใช้บริการของบริษัทซ่อมบำรุง ทำให้ค่าอะไหล่ราคาสูงกว่าราคากลางถึง 30% และเสียเวลารอสั่งอะไหล่จากต่างประเทศ 2-3 วัน ทำให้ฝูงบินไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพการเปิดคลังนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุนและลดการดีเลย์จากจำนวนฝูงบินที่ต้องจอดรออะไหล่ด้วย

พร้อมกันนั้น สายการบินยังมีแผนที่จะสลับเครื่องกันใช้กับสายการบินต่างชาติตามฤดูกาลท่องเที่ยว โดยระหว่างเดือนตุลาคม-เมษายน ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย นกแอร์จะยืมเครื่องบินจากสายการบินต่างชาติพันธมิตรจำนวน 2 เครื่อง เพื่อให้พอกับความต้องการของผู้โดยสาร ส่วนนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย นกแอร์ก็จะให้สายการบินพันธมิตรที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นยืมเครื่องบิน 2 ลำเช่นกัน โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาก่อนการเซ็นสัญญา

ปรับตารางบินเรียกคืนความมั่นใจ

“วุฒิภูมิ” ยังบอกด้วยว่า ขณะเดียวกัน นกแอร์ยังเดินหน้าปรับตารางบินใหม่ทั้งหมด โดยการขยายระยะเวลาภาคพื้นดินจาก 30 นาทีเป็น 45 นาที รวมถึงเพิ่มระยะเวลาตรงกลางระหว่างเที่ยวบินเช้า 4 เที่ยว และเที่ยวบินบ่าย 4 เที่ยว ให้กว้างขึ้น เพื่อให้สายการบินมีเวลามากขึ้นสำหรับการขนถ่ายผู้โดยสารช่วงเช้า ทั้งนี้ เพื่อเรียกคืนความมั่นใจจากผู้โดยสาร และยกระดับการให้บริการของนกแอร์ให้สมกับการเป็นสายการบินต้นทุนต่ำระดับพรีเมี่ยม

“ที่ผ่านมานกแอร์ไม่เคยปรับตารางบินเลย และใช้ตารางบินเก่ามาโดยตลอด ทำให้ได้รับผลกระทบจากการจราจรที่หนาแน่นขึ้นของท่าอากาศยานดอนเมือง ทำให้เกิดภาวะไฟลต์ดีเลย์ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเตรียมกู้ความมั่นใจของผู้โดยสารด้วยการจัดเครื่องบินทั้งโบอิ้ง 737-800 และเครื่องบินใบพัด Bombardier Q400-8 สำหรับเป็นเครื่องสำรองอีกอย่างละ 1 เครื่อง ในช่วงเช้าของทุกวัน เพื่อลดข้อผิดพลาดจากสถานการณ์เครื่องบินเสีย หรือข้อขัดข้องในการบิน”

อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องเสียกำลังผลิตไปในช่วงเช้าเป็นจำนวน 2 ลำทุกวันแต่สายการบินจะเพิ่มตารางเวลาบินระหว่างประเทศในช่วงกลางคืนที่ไม่เคยบินมาก่อนแทน รวมถึงมีแผนจะรับเครื่องบินเพิ่มอย่างแน่นอนอีก 2 ลำ ภายในปีหน้า เพื่อรักษากำลังการผลิตเดิมและเพิ่มกำลังการผลิตจากเส้นทางที่เปิดใหม่

โดยขณะนี้สายการบินสามารถเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเครื่องบินจากเดิม 9-10 ชั่วโมงต่อวัน ไปเป็น 12 ชั่วโมงต่อวันได้แล้ว รวมถึงมีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจากเครื่องละ 8 เที่ยวบินต่อวัน ไปเป็น 10 เที่ยวบิน โดยการเพิ่มเที่ยวบินช่วงเช้าและช่วงกลางคืนเป็นต้น

มั่นใจผลประกอบการปีนี้ดีขึ้น

“วุฒิภูมิ” ยังบอกด้วยว่า แผนธุรกิจใหม่จะส่งเข้าไปให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และหากบอร์ดไม่มีการขอให้ปรับแผนใหม่ก็พร้อมที่จะแถลงให้ทราบความคืบหน้าอีกครั้งภายในเดือนธันวาคม

อย่างไรก็ตาม เงินทุน 3,000 ล้านบาท ที่ได้กู้มาจากผู้ถือหุ้น ขณะนี้เพิ่งใช้ไปประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนเร็ว ๆ นี้แน่นอนพร้อมทั้งย้ำว่า แม้จะยังไม่สามารถเปิดเผยแผนมากกว่านี้ได้ แต่สามารถบอกได้ว่างานทั้งหมดที่นกแอร์เริ่มทำมาเพื่อฟื้นฟูองค์กรจะส่งผลให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยเชื่อว่าแม้ผลประกอบการในปีนี้จะไม่สามารถพ้นตัวแดงได้ แต่จะดีขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน