ดัชนีท่องเที่ยว Q4 ร่วง ทุบนักท่องเที่ยว-รายได้ปี”62 หลุดเป้า

แม้ว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะจากปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งล้วนมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ “การท่องเที่ยว” ก็ยังคงเป็นธุรกิจที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศได้ต่อไป

ดัชนีท่องเที่ยว Q3-Q4 ร่วง

“ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจในโครงการรายงานและพยากรณ์สถานการณ์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในไตรมาส 3/2562 ซึ่งทำการสำรวจระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562 พบว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤต จากปัจจัยลบต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรง ทำให้อัตราเงินบาทแข็งค่าขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนไทยลดลงจากปีก่อน

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2562 เท่ากับ 91 ต่ำกว่าภาวะปกติค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความกังวลของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวอย่างชัดเจน

โดยเป็นการปรับแย่ลงจากทุกกลุ่มธุรกิจและทุกภูมิภาค โดยธุรกิจขนส่ง สปา และนวด เป็นกลุ่มที่ประเมินสถานการณ์ต่ำที่สุด รองลงมาคือ ธุรกิจนำเที่ยว, โรงแรม สวนสนุก ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม และร้านขายของที่ระลึกประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าปกติเล็กน้อย

โดยปัจจัยกดดันที่ผู้ประกอบการประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าปกตินั้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งในด้านของเศรษฐกิจ อาทิ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (16%), การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น (15%), การแข่งขันภายในประเทศและการแข่งขันกับต่างประเทศ และแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศที่ชะลอตัว (14%), รวมถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังซบเซาทำให้กำลังซื้อลดลง (13%) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายไตรมาส

นักท่องเที่ยว-รายได้หลุดเป้า

ส่วนในไตรมาส 4/2562 คาดการณ์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเท่ากับ 95 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจากปัจจุบัน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติเล็กน้อย โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงมากขึ้น ต้นทุนที่สูงขึ้น และแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นบ้างในไตรมาสหน้า เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวนอกจากนี้ ยังคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 จะมีจำนวน 9.55 ล้านคน และจำนวน 10.41 ล้านคนในไตรมาส 4 ทำให้มีตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2562 รวม 39.73 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.06% เมื่อเทียบกับปีก่อน

และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.95 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.12% เมื่อเทียบกับปี 2561 (ดูตารางประกอบ) ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 40.5 ล้านคน และรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 2.2 ล้านล้านบาท

หวัง “ชิม ช้อป ใช้” หนุนใน ปท.

“ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์” รองประธานฝ่ายตลาดท่องเที่ยวในประเทศ สทท. และนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมาอยู่ในภาวะทรงตัว และเชื่อมั่นว่าในไตรมาส 4 นี้ คนไทยจะมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยได้แรงสนับสนุนจากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสมาคมกำลังมอนิเตอร์ข้อมูลอีกครั้งว่า มาตรการดังกล่าวกระตุ้นได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนกลยุทธ์กระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งยังได้เตรียมนำเสนอแนวทางทำการตลาดร่วมกับทางภาครัฐอีกเป็นระยะ เพื่อให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขเข้าพัก ร.ร.ขยับเล็กน้อย

“ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” รองประธานฝ่ายตลาดโรงแรมและที่พัก สทท. และนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) บอกว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมที่ผ่านมา มีการขยายตัว 2.83% นี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าสถานการณ์โดยรวมขณะนี้ยังไม่ได้บวกมากนัก เพราะในภาวะปกติการเติบโตของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 5%

โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 3/2562 ที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 63-68% และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 65-75% ในไตรมาส 4/2562 จากในภาวะปกติอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะอยู่ที่ราว 70-75%

และหากประเมินตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพฯ และภาคกลาง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยไตรมาส 3 สูงที่สุดที่ 72% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 77-83% ในไตรมาส 4 ภาคใต้มีอัตราการเข้าพักไตรมาส 3 เฉลี่ย 65% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 70-75% ในไตรมาส 4

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเข้าพักไตรมาส 3 เฉลี่ย 58% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 63-68% ในไตรมาส 4 และภาคเหนือ มีอัตราการเข้าพักไตรมาส 3 เฉลี่ย 54% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 59-64% ในไตรมาส 4

เร่งทำตลาดทั้งใน ปท.-ตปท.

“ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเปลี่ยนการเดินทางได้ง่ายขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งปกติเป็นไฮซีซั่นสำหรับปีนี้จะอยู่ในภาวะชะลอตัวพอสมควร

“เชื่อว่าสำหรับตลาดไทยเที่ยวไทยนั้นน่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจน จากแรงหนุนของมาตรการชิม ช้อป ใช้ ของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นในช่วงโค้งท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะการเติมเงินในกระเป๋าตังที่ 2 เนื่องจากหากเกิดการเดินทางท่องเที่ยวจำนวนเงิน 1,000 บาท ของมาตรการนั้นคงไม่เพียงพอ นักท่องเที่ยวน่าจะมีการใช้จ่ายมากกว่านั้น ซี่งหากเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าที่ 2 จะทำให้ได้รับส่วนลดคืนมาอีก 15% ด้วย”

และนอกจากการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ทาง สทท.ยังมีแผนเตรียมทำตลาดต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะประเทศในโซนอาเซียน, จีน และอินเดีย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมงานและวางแผนในรายละเอียด

ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้จำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมยังสามารถเติบโตได้ แม้ว่าจะไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปีก็ตาม