ทีเส็บดันไทยขึ้นไมซ์GMS เร่งกระจายงานสู่เมืองรอง

“ทีเส็บ” เตรียมจัดหนักเพิ่ม 2 งานไมซ์ ดันไทยขึ้นศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หลัง 2 ปี บูม 4 งาน เชื่อมผู้ประกอบการไทยเทศ-สร้างมูลค่าทะลุ 300 ล้านบาท พร้อมเร่งกระจายงานสู่หัวเมือง-เมืองรอง ประเดิมงาน GTEC ภาคอีสาน ก่อนขยับลงใต้

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลมอบนโยบาย Strong Together ให้ไทยผสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) อันได้แก่ กัมพูชา, เวียดนาม, ลาว, เมียนมา และจีนตอนใต้ เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน

และโลจิสติกส์ของภูมิภาค ทีเส็บโดยฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศจึงเดินหน้านโยบายใช้การประชุม หรืองานแสดงสินค้าเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยการร่วมมือกับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณและเจ้าภาพร่วมผลักดันให้เกิดการจัดงานประชุมและการจับคู่ทางธุรกิจสำหรับ 4 ระเบียงเศรษฐกิจในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 307 ล้านบาท

สำหรับงานประชุมระเบียงเศรษฐกิจ 4 งาน ที่ทีเส็บได้สนับสนุนมาตลอด 2 ปี ประกอบด้วย

1.งานประชุมนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย หรือ LIMEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมืองหลวงพระบาง ไซยะบุลี ของลาว พื้นที่อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตากของไทย และเมียวดี ผาอาน และเมาะลำไย ของพม่าในปี 2561 จัดที่พิษณุโลก มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 400 คนจาก 3 ประเทศ พร้อมเกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจไทย-สปป.ลาว 15 ราย ไทย-เมียนมา 5 ราย มูลค่าธุรกิจรวม 226 ล้านบาท ในสาขาอุตสาหกรรมอาหาร, โลจิสติกส์, สุขภาพ, ก่อสร้าง, เกษตร และเสื้อผ้า ก่อนจะจัดอีกครั้งในปี 2562 ในพื้นที่จังหวัดตาก

2.งานประชุม Cambodia-Vietnam-Thailand Economic Corridor Cooperation Conference หรือ CVTEC ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อผลักดันการเปิดเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงชายฝั่งทะเล

3 ประเทศ รวมทั้งพื้นที่ East Economic Corridor (EEC) ครอบคลุมเมืองกาเมาและเกียนยางของเวียดนาม เมืองพระสีหนุ เกาะกง แกบ กัมปอต และตาแกวของกัมพูชา และจังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง และชลบุรี

โดยมีการจัดประชุมในพัทยา ในปี 2561 และระยอง ในปี 2562 มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 200 คนจาก 3 ประเทศ และได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฝ่าย เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โดยมีกำหนดทดลองเปิดเดินเรือในปี 2563

3.งานประชุม GMS Logistic Forum ซึ่งเป็นการจัดประชุมนานาชาติด้านโลจิสติกส์ครั้งแรกของกลุ่ม GMS เพื่อผลักดันความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2561 และขอนแก่นในปี 2562 มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 450 คน มีการจับคู่เจรจาทางการค้า 112 คู่ คาดว่าจะสร้างมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

4.งานประชุมสัมมนานานาชาติเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ GMS ครั้งที่ 1 หรือ GTEC จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เชียงรายในปีนี้ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด กับผู้ดำเนินการ e-Commerce platform เป่ยเตี้ยนของจีน หวังเจาะตลาดจีน โดยมีผู้เข้าประชุมและจับคู่ธุรกิจจากภาคเหนือของไทย 120 ราย และผู้ค้าจากจีน 30 ราย สร้างยอดขายสินค้าไทยเข้าตลาดจีนรวมมูลค่า 69.5 ล้านบาท

“ในปีหน้าทีเส็บจะยังคงสนับสนุนขับเคลื่อนการประชุมระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ต่อไปหลังจากในรอบ 2 ปีที่ทีเส็บใช้งบประมาณเพียง 9 ล้านบาทต่อปี ผลักดันให้มีการเจรจาซื้อขายทางธุรกิจ รวมมูลค่าเริ่มต้นได้ 307 ล้านบาท โดยในส่วนของระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะขยายไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2563 และภาคใต้ ในปี 2564 ตามโมเดลงาน LIMEC ที่ขยายสถานที่จัดงานสู่เมืองรองของไทยมาเป็นปีที่ 5 แล้ว”

นอกจากนี้ ในปี 2563 ที่จะถึงนี้ ทีเส็บยังวางแผนที่จะเพิ่มงานจัดประชุมอีก 2 งาน ได้แก่ งานประชุมสัมมนานานาชาติเพื่อการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ EWEC ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุน โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว ครอบคลุมพื้นที่มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น พิษณุโลก และตากของไทย รวมถึงพื้นที่ลาวและเมียนมา และงาน GMS TOURISM CORRIDOR ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และการเจรจาธุรกิจระหว่าง 6 ประเทศในกลุ่ม GMS โดยมีผู้ตอบรับการเข้าร่วมงานในเดือนมีนาคม 2563 แล้วทั้งสิ้น