“บินไทย” เร่งทบทวนแผนฟื้นฟู มุ่งเพิ่มรายได้-รื้อโปรเจ็กต์ซื้อเครื่องใหม่

“ถาวร เสนเนียม” เผยการบินไทยขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้านเรื่องเล็ก แก้ไขได้ ไม่มีปัญหา ฝากการบ้านทีมบริหารละเอียดยิบ หวังพลิกฟื้นตัวเลขกำไร ด้าน “ดีดีบินไทย” เดินหน้าแผนเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่าย ปรับโครงสร้างองค์กร พร้อมเร่งวิเคราะห์ตลาด-เส้นทางบินใหม่ตอบโจทย์แผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เตรียมเขย่าโครงสร้างการเงินทั้งระบบ หวังสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้กำกับดูแลบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังจากเข้ารับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและติดตามความคืบหน้าในการจัดทำแผนธุรกิจ บริษัท การบินไทย เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ยอมรับว่าธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันที่สูงมาก แต่การบินไทยยังเป็นสายการบินที่มีข้อได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องของชื่อเสียง, วัฒนธรรมการให้บริการ, รางวัลการันตีต่าง ๆ รวมถึงภูมิประเทศที่เป็นศูนย์กลางในการขนส่งผู้โดยสารของภูมิภาค

ฝากการบ้านบอร์ด 6 ประเด็น

“ตัวเลขขาดทุนที่มีอยู่ 2 หมื่นกว่าล้านบาทถือว่าจิ๊บจ๊อย ไม่มีปัญหา ยังสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องทำอย่างจริงจัง ผมในฐานะผู้กำกับดูแลจึงต้องติดตามแผนดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะยาวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การบินไทยฟื้นและกลับมามีกำไรได้” นายถาวรกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตนได้ฝากประเด็นให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) และกรรมการผู้จัดการใหญ่การบินไทยไปดำเนินการใน 6 ประเด็นหลัก ๆประกอบด้วย 1.ให้จัดทำแผนฟื้นฟูและแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และขอทราบผลประกอบการรายเดือน

2.ให้รายงานความคืบหน้าการทบทวนการจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 38 ลำ ทุกเดือนจนกว่าแผนจะแล้วเสร็จ

3.ขอให้พิจารณาแผนการบริหารจัดการและโครงสร้างบริษัทอย่างละเอียด รอบด้าน รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

4.ให้รายงานสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาพร้อมสภาวะกระแสเงินสดทุกเดือน

5.ระบุให้รายงานความคืบหน้าเรื่องการลงทุนในศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) อู่ตะเภา (ชลบุรี-ระยอง) ทุก ๆ 15 วัน

และ 6.ขอทราบแนวทางแก้ไขปัญหาภายในที่ยังยืดเยื้อไม่เรียบร้อย และเป็นปัญหาเรื่องต้นทุน การหารายได้ และผลประกอบการของบริษัท อาทิ การจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้ว, การกำหนดเส้นทางบิน, มาตรการการจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ

เร่งเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่าย

ด้าน นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามแผนการดำเนินงานระยะสั้นบริษัทมีเป้าหมายดำเนินงานใน 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.มุ่งเพิ่มรายได้จากการขายตั๋วให้ได้มากที่สุดในช่วงไฮซีซั่นนี้ ทั้งมุ่งทำการตลาดเข้าหากลุ่มเป้าหมายตรงและเพิ่มน้ำหนักการขายในช่องทางออนไลน์

2.ลดค่าใช้จ่าย โดยจะพิจารณายกเลิก หรือเลื่อนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน รวมทั้งหารือพนักงานลดวันทำงาน เพื่อช่วยเรื่องต้นทุนค่าแรงและค่าล่วงเวลา (โอที) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลดค่าตอบแทนผู้บริหารบางส่วนลงล่วงหน้าไปแล้ว

3.ปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดรับและเหมาะสมกับงาน เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธุรกิจ และ 4.เร่งวิเคราะห์ตลาดและเส้นทางบินในบริษัทปัจจุบันเพื่อนำไปทำแผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ในจำนวนที่เหมาะสม

ส่วนเรื่องของการวางรากธุรกิจในระยะยาว ในระยะยาวนั้นประกอบด้วยแผนการลงทุนในศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) อู่ตะเภา(ชลบุรี-ระยอง) ซึ่งทางแอร์บัส ซึ่งเป็นพันธมิตรมีแผนที่จะยื่นข้อเสนอเข้าไปลงทุนในช่วงปลายปีนี้ เรื่องของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ต้องปรับตัวรับกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การจัดการทรัพย์สินที่ไม่เกิดประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงความพยายามในการผลักดันให้สายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินลูกมีอัตราการใช้เครื่องบินถึง 10.30 ชั่วโมงต่อวันให้ได้ในช่วงไฮซีซั่นปีนี้ และหากสามารถรักษาระดับชั่วโมงที่ทำการบินได้ในระดับ 10.30 ชั่วโมงต่อวันได้ตลอดทั้งปีในปีหน้า คาดว่าจะช่วยให้ไทยสมายล์ยุติภาวะขาดทุนได้ในปี 2563 นี้

แผนซื้อเครื่องบินใหม่เสร็จสิ้นปี

สำหรับแผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่จำนวน 38 ลำนั้น นายสุเมธกล่าวว่า บริษัทต้องกลับมาทำการศึกษา วิเคราะห์ตลาดและเส้นทางบินอย่างละเอียด รอบคอบอีกครั้ง เนื่องจากแผนเดิมไม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจ การแข่งขัน และเหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากสมมุติฐานต่าง ๆ ใหม่หมด เพื่อให้การตัดสินใจรอบใหม่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว

“แผนงานสำหรับการวิเคราะห์ตลาดการบิน และเส้นทางบิน รวมถึงความเหมาะสมในการจัดซื้อเครื่องบินใหม่นี้ คณะกรรมการบริหารมีมติให้บริษัทดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา แต่เราตั้งเป้าว่าจะทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้”

เขย่าโครงสร้างการเงินทั้งระบบ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการวางแผนลดหนี้ระยะยาวอย่างเป็นระบบ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ลดหนี้สินระยะยาวลงไปได้ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากดูสัดส่วนของหนี้ต่อทุนก็ยังอยู่ในอัตราที่สูง เนื่องจากในส่วนของทุนค่อนข้างต่ำ ดังนั้น หากต้องการให้โครงสร้างองค์กรอยู่ในสถานะที่มีเสถียรภาพก็จำเป็นต้องมีการพิจารณาโครงสร้างทางการเงินทั้งระบบอีกครั้ง

“ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เราคงต้องนำมาหารือทางคณะกรรมการบริหารและขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่งก็คือกระทรวงคมนาคมในเวลาต่อไป” นายสุเมธกล่าว