ผนึกกระทรวงภูมิใจไทย “ท่องเที่ยว-คมนาคม” เพิ่มศักยภาพโครงข่ายฯ รองรับนักท่องเที่ยวพุ่ง

“พิพัฒน์” นำทีมท่องเที่ยวถก “คมนาคม” หาทางยกระดับขีดความสามารถ เน้นย้ำความปลอดภัย-สะอาด-ยั่งยืน ฟากปลัดคมนาคมขานรับ เร่งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มทั้งบก-น้ำ-อากาศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้ประเทศ ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าพัฒนาในหลายด้าน ได้แก่ ด้านความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย และด้านความสะอาดและสุขภาพ รวมถึงเพิ่มมาตรการในการอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับต่อการขยายตัวของคนเดินทางทั่วโลก เพื่อยกระดับขีดความสามารถที่อยู่ในระดับดีเด่นให้สูงขึ้น

และรักษาขีดความสามารถที่อยู่อันดับสูงสุด แต่มีปรับอันดับลดลง โดยใช้มาตรการในการแก้ไขโจทย์ในข้อดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ การแข่งขันด้านราคาและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ และอาจจะต้องบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับทั้ง 4 ด้านหลัก ตามนโยบาย คือ เรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ยั่งยืน และการไม่เอาเปรียบ

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่อว่า ขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ลำดับ 35 ในปี 2558 เป็นลำดับ 34 ในปี 2560 และลำดับที่ 31 ในปี 2562 แต่ประเมินว่าขีดความสามารถฯ ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกหากได้รับความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคมที่มีภารกิจในการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ หากมีการปรับปรุงคาดว่าศักยภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยจะสูงขึ้นและสามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ประมาณ 80% เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยทางอากาศ

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เผยว่า กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกใน 3 ทาง ได้แก่

1. การอำนวยความสะดวกทางอากาศ ซึ่งมีการบริหารจัดการ Slot Coordination และน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งการก่อสร้างและการขยายสนามบินอื่นๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

2. การอำนวยความสะดวกทางบก เรื่องการผ่านข้ามแดน (รถบัส) บริเวณด่านประเทศมาเลเซีย , การอำนวยความสะดวกในการผ่านข้ามแดนรถยนต์ และการดำเนินโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ และ 3. การอำนวยความสะดวกทางน้ำ เน้นย้ำด้านการรักษาความปลอดภัยทางน้ำ และการขยายท่าเทียบเรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานและการบริการนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วมากขึ้น