ปั้น “เมืองเก่าที่มีชีวิต” สู่โมเดลท่องเที่ยว “เมืองน่าน”

ไม่บ่อยนักที่จะเห็น “เทศบาลเมือง”ได้รับรางวัล “กินรี” เพื่อการท่องเที่ยวคุณภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพราะประเภทของรางวัลที่ปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก สปา และความงาม แต่ “เทศบาลเมืองน่าน” ได้รับรางวัลถึง 3 สมัยซ้อนจนได้เข้าสู่ Hall of Fame ของรางวัลกินรี

อะไรคือ โมเดลที่เทศบาลเมืองน่านใช้จนทำให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ขนาดใหญ่จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพได้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “สุรพล เธียรสูตร” นายกเทศมนตรีเมืองน่าน จังหวัดน่าน ไว้ดังนี้

“สุรพล” บอกว่า การรับรางวัล Hall of Fame กินรีและกินรีโกลด์ในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่เทศบาลเมืองน่านได้ขึ้นเวทีเพื่อรับรางวัลเกียรติยศด้านการท่องเที่ยวอย่างกินรี โดยในปีแรกที่เทศบาลเมืองน่านส่ง “เทศบาลเมือง” เข้าประกวดรางวัลกินรีนั้น ได้เริ่มส่งในประเภทองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวและคว้ารางวัลในประเภทนี้มาก่อนจนมาถึงปีที่ทาง ททท.ตัดประเภทรางวัลองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวออกไป เทศบาลเมืองน่านจึงได้ว่างเว้นจากเวทีกินรีไป 1 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนมาส่ง “เทศบาลเมืองน่าน” ในประเภท “แหล่งท่องเที่ยว” บนเวทีกินรีแทน โดยกำหนดกรอบพื้นที่ในความดูแลของเทศบาลเมืองน่านทั้งหมดในการส่งเข้าประกวด

ทั้งนี้ ในปี 2552 จังหวัดน่านมีจำนวนผู้มาเยือนประมาณ 250,000 คน ก่อนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ จนทำให้ในปี 2561 เมืองน่านมีผู้มาเยือนกว่า 900,000 คนโดยเชื่อว่าภายในปี 2562 นี้จังหวัดน่านจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเกินกว่า 1 ล้านคน

โดยมองว่านัยสำคัญของการเติบโตของเมืองน่านนั้นเกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ของเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งวางตำแหน่งของเทศบาลเมืองน่านในฐานะ “ห้องรับแขก” ของจังหวัดที่สะอาด สวยงาม และน่าประทับใจ พร้อมกำหนดจุดขายของจังหวัดให้เป็น “เมืองเก่าที่มีชีวิต” ผ่าน 5 มิติสำคัญได้แก่ การแต่งกาย, ภาษา, อาหาร, ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม ให้สามารถถ่ายทอดอารยธรรมดั้งเดิมของเมืองน่านพร้อมกับมุ่งที่จะดำเนินงานตามจุดประสงค์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งคือ “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน” โดยเทศบาลตั้งเป้าที่จะให้เมืองน่านเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่โตช้า ๆ แต่มีคุณภาพ จึงเลือกจะควบคุมความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวด้วยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการท่องเที่ยวและวางกฎระเบียบควบคุมเมืองให้สอดคล้องกับเป้าหมาย

โดยปัจจุบันเทศบาลเมืองน่านกำหนดกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเป็น “กลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณ” หรือใกล้เกษียณที่ชื่นชอบความสงบ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมเมืองเก่าจึงได้วางกฎระเบียบผ่านกฎหมายผังเมืองและกฎเทศบัญญัติให้พื้นที่เทศบาลเมืองน่านปลอดแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน รักษาสถาปัตยกรรมเมืองเก่า และไม่อนุญาตให้สร้างตึกสูง รวมถึงครอบคลุมการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีลักษณะของอารยสถาปัตย์ หรือ universal design ให้กลุ่มเป้าหมายของเทศบาลเมืองน่านสามารถเดินทางเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้และได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน เทศบาลเมืองน่านยังเลือกจัดสรรพื้นที่สาธารณะของเทศบาลเมืองในการเอื้อประโยชน์ต่อผู้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว อาทิ การจัดพื้นที่สำหรับลานขันโตก การจัดพื้นที่ถนนคนเดิน หรือการจัดสรรพื้นที่หน้าเทศบาลสำหรับการกางเต็นท์ในช่วงไฮซีซั่นเพื่อให้พื้นที่สาธารณะของเมืองสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดตลอดตั้งแต่เช้าจดค่ำ

นอกจากนั้น การควบคุมกฎหมายผังเมืองยังทำให้เมืองน่านสามารถกระจายพื้นที่ทางการท่องเที่ยวออกจากภายในตัวเมืองไปสู่พื้นที่รอบ ๆ เปิดโอกาสให้โรงแรม ห้างร้าน และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ สามารถขยายตัวออกไปสู่พื้นที่ข้างเคียงตัวเมืองได้มากขึ้น พร้อมกันนั้นยังหวังผลว่าจะสามารถขยายระยะเวลาท่องเที่ยวเมืองน่านให้ยาวนานมากยิ่งขึ้นจากการกระจายพื้นที่เมืองออกไปด้วย

“เป้าหมายต่อไปของเมืองน่านคือ การขยับสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ “smart city” เพื่อเพิ่มความสะดวก สบายปลอดภัยให้กับพื้นที่เขตเทศบาลมากยิ่งขึ้นโดยในระยะเริ่มต้นมีแผนที่จะเริ่มการดำเนินงานด้านความปลอดภัย และสุขภาพอย่างระบบกล้องวงจรปิด CCTV และระบบแจ้งเตือนความปลอดภัย พร้อมทั้งระบบเสาติดตามควบคุมมลพิษเพื่อรักษาระดับคุณภาพอากาศภายในเมือง”

จากนั้นจะขยายผลไปยังระบบอื่น ๆ อาทิ ระบบพลังงาน ระบบขนส่ง โดยการผสานระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเข้ากับระบบพลังงานสะอาดอย่างพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่แล้วยังช่วยส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว

โดยคาดว่าจากแผนของรัฐบาลที่กำหนดให้น่านเป็นหนึ่งในเมืองที่จะถูกส่งเสริมให้เป็น smart city ภายในปี 2563 ทำให้เริ่มเห็นผลของนโยบายต่าง ๆ ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้นในปี 2564 นี้